คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3569/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อ ด. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของ ด. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (2) ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ตามคำสั่งศาลย่อมมีหน้าที่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การที่ ร. จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยในราคาเพียง 45,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินพิพาทกับที่ดินอีก 1 แปลง มีราคาถึง 70,000 บาท จึงเป็นราคาต่ำมากไม่น่าเชื่อว่าจะซื้อขายกันจริง และที่จำเลยนำสืบอ้างว่าเบิกเงินจากธนาคารจำนวน 30,000 บาท มาชำระค่าซื้อที่ดินพิพาทนั้นก็ไม่มีหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคารมาแสดง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของ ร. ร่วมบิดาเดียวกัน จำเลยย่อมทราบว่า ด. เป็นบุตรโจทก์ จึงเชื่อว่าจำเลยและ ร. กระทำการโอนที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่าง ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางรวม พัดเถื่อนหรือฤทธิ์ม่วง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดง ฤทธิ์ม่วง ผู้ตาย กับจำเลย และเพิกถอนคำสั่งของศาลที่ตั้งนางรวม พัดเถื่อนหรือฤทธิ์ม่วง เป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง ฤทธิ์ม่วง ผู้ตาย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7332 ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างนางรวม พัดเถื่อนหรือฤทธิ์ม่วง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดง ฤทธิ์ม่วง กับจำเลย ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลที่ตั้งนางรวม พัดเถื่อนหรือฤทธิ์ม่วง เป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง ฤทธิ์ม่วง ผู้ตาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายชั้วและนางรวม ฤทธิ์ม่วง มีพี่น้องรวม 5 คน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายแดงเป็นบุตรของโจทก์ ที่ดินพิพาทโฉนเลขที่ 7332 ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เดิมมีชื่อนายแดงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่านายแดงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 จำเลยและนางมา คงเถื่อน เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางรวม โดยนางรวมซื้อจากนายเชิงกับนางมา คงเถื่อน แต่นางรวมขอให้ใส่ชื่อนางแดงเป็นผู้รับโอนตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.3 หนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ระบุชื่อนายแดงเป็นผู้รับให้ ฉะนั้น พยานบุคคลของจำเลยที่นำสืบว่านายแดงเป็นผู้รับให้แทนนางรวมจึงเป็นการขัดแย้งกับข้อความในเอกสารหมาย ล.3 โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ดินพิพาทกับที่ดินตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.3 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายแดง เมื่อนายแดงถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นมารดาของนายแดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) นางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงตามคำสั่งศาลมีหน้าที่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่นางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกลับจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย โดยจำเลยนำสืบอ้างว่าเบิกเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 30,000 บาท มาชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท แต่ก็ไม่มีหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคารมาแสดง ที่ดินพิพาทกับที่ดินอีก 1 แปลง มีราคาถึง 70,000 บาท แต่กลับตกลงขายเพียง 45,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากไม่น่าเชื่อว่าจะซื้อขายกันจริง เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จำเลยเป็นบุตรของนางรวมร่วมบิดาเดียวกัน จำเลยย่อมทราบว่านายแดงเป็นบุตรโจทก์ และนางรวมเป็นผู้จัดการมรดกนายแดง ดังนี้เชื่อว่าจำเลยและนางรวมกระทำการโอนที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเลขที่ 7332 ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างนางรวม ฤทธิ์ม่วงหรือพัดเถื่อน ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดง ฤทธิ์ม่วง กับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share