แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวโดยมีระยะเวลาการเช่าตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2545 จำเลยที่ 1ยอมให้โจทก์เฉลี่ยเงินได้เป็นรายปีจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาการเช่าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเอาเงินได้ส่วนที่เฉลี่ยนั้นยื่นรายการเงินได้เมื่อถึงกำหนดแต่ละปี จำเลยจะให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ทั้งหมดในคราวเดียวกันตามมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ยื่นรายการเงินได้ปีก่อน ๆ ไม่ถูกต้อง เป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร เงินได้จากการจดทะเบียนสิทธิการเช่ามีรอบระยะเวลาที่ต้องเสียภาษีนาน ไม่มีหลักประกันว่าจะเสียภาษีภายในกำหนดเวลาและครบถ้วนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีหลักทรัพย์และไม่ยากที่จะเรียกเก็บภาษี ทั้งได้เสนอหลักทรัพย์ที่จะประกันการเสียภาษีดังกล่าวสูงกว่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียมาก ย่อมเห็นได้ว่าสามารถเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ได้แน่นอน ส่วนการหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยยื่นรายการภาษีในปีก่อน ๆ ไม่ถูกต้องนั้น โจทก์จะต้องรับผิดในเรื่องเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับอยู่แล้ว เหตุต่าง ๆดังที่จำเลยอ้างจึงมิใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 60 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1723 แขวงถนนเพชรบุรีเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2523 โจทก์ที่ 2 ได้ปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินดังกล่าวรวม 32 คูหา ให้บุคคลภายนอกเช่ามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี ได้รับค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิการเช่ารวม7,200,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนดังกล่าวโดยเฉลี่ยเป็นรายปีตามอายุสัญญาการเช่า ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม2499 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2526 จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรได้แจ้งต่อโจทก์ทั้งสองให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2545 ในคราวเดียวกันเป็นเงินทั้งสิ้น660,501.77 บาท ตามมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์คัดค้าน แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองการกระทำของจำเลยทั้งห้าขัดต่อกฎหมายและประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499 และมิใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีขอให้ยกเลิกการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่6 สิงหาคม 2499 มีสาระสำคัญว่าผู้มีเงินได้ต้องยื่นรายการเงินได้เพื่อเสียภาษีในเวลาอันควร ถ้าฝ่าฝืนและกรมสรรพากรตรวจสอบไต่สวนได้มาเองแล้ว ผู้มีเงินได้จะต้องรับผิดเสียภาษีและเงินเพิ่มกับมีความผิดทางอาญา โจทก์ที่ 2 มีเงินได้จากเงินค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิการเช่าในปี พ.ศ. 2524, 2525 และมีเงินได้จากเงินบำเหน็จเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2525 จำนวน 59,455 บาทแต่ไม่ได้ยื่นรายการเงินได้เพื่อเสียภาษี จำเลยตรวจสอบไต่สวนพบและออกหมายเรียกโจทก์ที่ 2 มาเสียภาษีให้ถูกต้อง ประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวเป็นการแบ่งเบาภาระให้ผู้ให้เช่าทรัพย์สินเฉลี่ยเงินค่าตอบแทนตามส่วนแบ่งแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าเพื่อเสียภาษีเท่านั้น แต่ผู้ให้เช่าต้องชำระเงินภาษีทั้งหมดในคราวเดียวกันและกรณีของโจทก์ถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเพราะโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2524-2525และเงินได้จากการจดทะเบียนสิทธิการเช่ามีรอบระยะเวลาที่จะต้องเสียภาษีเป็นเวลานาน ไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่าโจทก์จะชำระภาษีครบถ้วนตามกำหนดเวลาและการติดตามเรียกเก็บภาษีจะได้ผลเพียงใดหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถว 32 คูหา โดยมีระยะเวลาการเช่าจนถึงปี พ.ศ. 2545ในการเรียกเก็บภาษี จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เฉลี่ยเงินได้เป็นรายปีจนกว่าจะสิ้นเวลาการเช่าตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วนลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499 กระทรวงการคลังได้วางหลักการไว้ว่าการเสียภาษีในกรณีเกี่ยวกับเรื่องเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะเงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารและโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้น กระทรวงการคลังยอมให้ผู้ให้เช่าเฉลี่ยเงินดังกล่าวตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า เช่น ผู้ให้เช่าได้รับเงินกินเปล่าในการให้เช่าห้อง 30,000 บาท แต่ผู้ให้เช่าต้องผูกพันให้เช่าอยู่มีกำหนดเวลา 3 ปี ดังนี้ ให้เฉลี่ยเงิน30,000 บาท นั้นออกเป็น 3 ปี ตามอายุสัญญาเช่าและผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้จากเงินกินเปล่านี้ปีละ 10,000 บาทรวม 3 ปีหมด การวางหลักการนี้กระทรวงการคลังหวังว่าผู้ให้เช่าทั้งหลายคงจะพึงพอใจ และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยทั่วกันและถ้าผู้ให้เช่าผู้ใดยื่นรายการเงินได้ขอเสียภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามที่ได้ชี้แจงมานี้โดยดีแล้ว กรมสรรพากรก็จะประเมินเรียกเก็บหรือรับชำระเฉพาะเงินค่าภาษีเงินได้แต่อย่างเดียวโดยจะไม่เรียกเงินเพิ่มหรือค่าปรับใด ๆ ทั้งสิ้น…ฯลฯ… ตามประกาศดังกล่าวเป็นการยอมให้ผู้เสียภาษีเฉลี่ยเงินที่ได้รับตามส่วนแห่งจำนวนปีของการเช่า โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้เพียงส่วนเฉลี่ยเท่านั้น เมื่อประกาศกระทรวงการคลังยินยอมให้ผู้เสียภาษียื่นรายการเงินได้โดยเฉลี่ยเป็นปี ๆ ไปเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเอาเงินได้ส่วนที่เฉลี่ยนั้นยื่นรายการเงินได้เมื่อถึงกำหนดแต่ละปี การที่จะเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ก่อนถึงกำหนดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 60 ทวิ นั้น ต้องเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจเรียกเก็บภาษีก่อนกำหนดยื่นรายการได้ ถ้าหากไม่เรียกเก็บไว้ก่อนก็อาจจะไม่มีช่องทางที่จะเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้จึงต้องรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีไว้ก่อน แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีหลักทรัพย์และไม่ยากที่จะเรียกเก็บภาษีทั้งได้เสนอหลักทรัพย์ที่จะประกันการเสียภาษีดังกล่าวสูงกว่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียมากมาย การที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ทั้งสองยื่นรายการเงินได้ในปีก่อน ๆ ไม่ถูกต้องแล้วถือเป็นเหตุว่าโจทก์ทั้งสองหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรเงินได้จากการจดทะเบียนสิทธิการเช่าหรือเงินกินเปล่ามีรอบระยะเวลาต้องเสียภาษีนาน ไม่มีหลักประกันว่าจะเสียภาษีภายในกำหนดเวลาและครบถ้วน เห็นว่า ถึงแม้โจทก์ทั้งสองจะหลีกเลี่ยงภาษีโดยยื่นรายการไม่ถูกต้อง โจทก์ก็อาจจะต้องรับผิดในเรื่องเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับแต่ก็สามารถจะเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ได้ ทั้งถ้าได้รับหลักประกันของโจทก์ไว้ ย่อมเห็นได้ว่าคงได้รับชำระภาษีแน่นอนเพียงแต่ต้องรอระยะเวลาเท่านั้น ทั้งตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวก็มิได้มีข้อความว่า ในกรณีที่กรมสรรพากรได้ดำเนินการไต่สวนได้มาเองแล้วผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดเสียภาษีทั้งหมดล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวแต่อย่างใด และที่จำเลยอ้างว่าผู้มีเงินได้จะต้องชำระภาษีเงินได้พร้อมกันทั้งหมดให้แล้วเสร็จในปีที่ได้รับเงินนั้น โดยยอมให้เฉลี่ยเฉพาะเงินได้ตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าเท่านั้นก็เป็นความเข้าใจของจำเลยเอง ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาภายหลังกระทรวงการคลังจึงได้มีประกาศฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528เปลี่ยนแปลงวิธีการชำระภาษีเงินได้เสียใหม่ สำหรับกรณีของโจทก์ทั้งสองยังคงได้รับประโยชน์ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับเดิมอยู่เหตุต่าง ๆ ดังที่จำเลยอ้างจึงมิใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษีในคราวเดียวกันย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 60 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.