คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3569/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถว 32 คูหา โดยมีระยะเวลาการเช่าจนถึงปี 2545 ในการเรียกเก็บภาษีนั้นกระทรวงการคลังได้วางหลักการไว้ว่า การเสียภาษีในกรณีเกี่ยวกับเรื่องเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้างเงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารและโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้น กระทรวงการคลังยอมให้ผู้ให้เช่าเฉลี่ยเงินดังกล่าวตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเอาเงินได้ส่วนที่เฉลี่ยนั้นยื่นรายการเงินได้เมื่อถึงกำหนดแต่ละปี การที่จะเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ก่อนถึงกำหนดตาม ป.รัษฎากรมาตรา 60 ทวิ นั้น ต้องเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจเรียกเก็บภาษีก่อนกำหนดยื่นรายการได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหลักทรัพย์และไม่ยากที่จะเรียกเก็บภาษี ทั้งได้เสนอหลักทรัพย์ที่จะประกันการเสียภาษีสูงกว่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย และโจทก์ยังได้รับประโยชน์ตามประกาศกระทรวงการคลังอีกด้วย ดังนั้น จึงมิใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะให้โจทก์เสียภาษีในคราวเดียวกันย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 60 ทวิ ดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภงด. 11 ที่ ต.6/1130/1/17435-17453 ลงวันที่ 27 มีนาคม2527 รวม 19 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 660,501.77 บาท และยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฉบับลงวันที่ 1พฤษภาคม 2528 ให้โจทก์ทั้งสองยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยวิธีการยื่นเสียภาษีในแต่ละปีภาษีของทุกปีภาษีถัด ๆ ไป ที่มีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2545
จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกลงวันที่ 29 สิงหาคม 2526 เพื่อตรวจสอบภาษีของโจทก์ทั้งสองประจำปี พ.ศ. 2524-2525 ผลการตรวจสอบปรากฏว่าโจทก์มีเงินได้จากเงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถว 32 คูหา ในปี พ.ศ. 2523-2526 เป็นเงิน1,800,000 บาท 300,000 บาท 4,300,000บาท และ 800,000 บาทตามลำดับ รวมเป็นเงิน 7,200,000 บาท เงินกินเปล่าหรือเงินค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าดังกล่าว เมื่อเอาไปเฉลี่ยตามอายุสัญญาเช่าแล้ว มีเงินได้พึงประเมินในปีพ.ศ. 2523-2526 เป็นเงิน 57,543 บาท 103,504 บาท 264,549 บาทและ 354,281 บาท ตามลำดับ ในปี 2527-2542 เป็นเงินปีละ 365,092บาท ในปี พ.ศ. 2543-2545 เป็นเงิน 275,550 บาท 242,095 บาทและ 61,006 บาท ตามลำดับและเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525 โจทก์ที่ 2ได้รับเงินบำเหน็จจากทบวงมหาวิทยาลัย 59,455 บาท เงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิในการเช่าและเงินบำเหน็จ โจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2524-2525ให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสองประจำปี พ.ศ. 2524-2525 พร้อมเงินเพิ่ม โจทก์ทั้งสองได้ยินยอมชำระภาษีและเงินเพิ่มดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับภาษีปี พ.ศ. 2526 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเองตามกำหนดเวลาส่วนภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2527-2545 เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนการจดทะเบียนการเช่าไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523-2526 แต่ระยะเวลาการเช่ามีจนถึงปี พ.ศ.2545 โจทก์จะต้องแบ่งเฉลี่ยเงินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเป็นรายปีจนถึงปี พ.ศ. 2545 โดยคำนวณเป็นภาษีปี พ.ศ. 2527-2542ปีละ 38,638.03 บาท ปี พ.ศ. 2543-2545 เป็นเงินภาษี 22,954.70 บาท18,029.30 บาท และ 1,309.29 บาท รวมเป็นค่าภาษี 660,501.77 บาททั้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้จากการจดทะเบียนสิทธิการเช่ามีรอบระยะเวลาที่ต้องเสียภาษีนาน ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าจะเสียภายในกำหนดเวลาและครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าการจัดเก็บภาษีรายนี้เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร จึงประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ทั้งสองตั้งแต่ปี 2527-2545 โดยให้ชำระในคราวเดียวโจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อ้างว่าโจทก์มีสิทธิเสียภาษีเงินได้จากเงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิการเช่าเป็นรายปีทุกปีเมื่อถึงกำหนดเวลาเสียภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์โจทก์
ในระหว่างการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ทั้งสองได้เสนอหลักทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3694 เนื้อที่ 3 ไร่97 ตารางวา ราคา 1,468,900 บาท กับพันธบัตรรัฐบาลอีก 81,000 บาทเป็นประกันการชำระภาษีปี พ.ศ. 2527-2545
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้รับเงินกินเปล่าหรือค่าตอบแทนในการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถว 32 คูหา โดยมีระยะเวลาการเช่าจนถึงปี พ.ศ. 2545 ในการเรียกเก็บภาษีจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เฉลี่ยเงินได้เป็นรายปีจนกว่าจะสิ้นเวลาการเช่า ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2499 กระทรวงการคลังได้วางหลักการไว้ว่า การเสียภาษีในกรณีเกี่ยวกับเรื่องเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารและโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้นกระทรวงการคลังยอมให้ผู้ให้เช่าเฉลี่ยเงินดังกล่าวตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า เช่นผู้ให้เช่าได้รับเงินกินเปล่าในการให้เช่าห้อง 30,000 บาทแต่ผู้ให้เช่าต้องผูกพันให้เช่าอยู่มีกำหนดเวลา 3 ปี ดังนี้ให้เฉลี่ยเงิน 30,000 บาท นั้นออกเป็น 3 ปี ตามอายุสัญญาเช่าและให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้จากเงินกินเปล่านี้ปีละ 10,000 บาท รวม 3 ปีหมด การวางหลักการดังนี้ กระทรวงการคลังหวังว่า ผู้ให้เช่าทั้งหลายคงจะพึงพอใจ และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยทั่วกัน และถ้าผู้ให้เช่าผู้ใดยื่นรายการเงินได้ขอเสียภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามที่ได้ชี้แจ้งมานี้โดยดีแล้วกรมสรรพากรก็จะประเมินเรียกเก็บหรือรับชำระเฉพาะเงินค่าภาษีเงินได้แต่อย่างเดียว โดยจะไม่เรียกเงินเพิ่มหรือค่าปรับใด ๆทั้งสิ้น…ฯลฯ… ตามประกาศดังกล่าวเป็นการยอมให้ผู้เสียภาษีเฉลี่ยเงินที่ได้รับตามส่วนแห่งจำนวนปีของการเช่า โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้เพียงส่วนเฉลี่ยเท่านั้น เมื่อประกาศกระทรวงการคลังยินยอมให้ผู้เสียภาษียื่นรายการเงินได้โดยเฉลี่ยเป็นปี ๆ ไปเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเอาเงินได้ส่วนที่เฉลี่ยนั้นยื่นรายการเงินได้เมื่อถึงกำหนดแต่ละปี การที่จะเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ก่อนถึงกำหนดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 60 ทวิ นั้น ต้องเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจเรียกเก็บภาษีก่อนกำหนดยื่นรายการได้ถ้าหากไม่เรียกเก็บไว้ก่อนก็อาจจะไม่มีช่องทางที่จะเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ จึงต้องรักษาประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีไว้ก่อน แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีหลักทรัพย์และไม่ยากที่จะเรียกเก็บภาษี ทั้งได้เสนอหลักทรัพย์ที่จะประกันการเสียภาษีสูงกว่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียมากมายการที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ทั้งสองยื่นรายการเงินได้ในปีก่อน ๆ ไม่ถูกต้อง แล้วถือเป็นเหตุว่าโจทก์ทั้งสองหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร เงินได้จากการจดทะเบียนสิทธิการเช่าหรือเงินกินเปล่ามีรอบระยะเวลาต้องเสียภาษีนาน ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าจะเสียภาษีภายในกำหนดเวลาและครบถ้วน เห็นว่า ถึงแม้โจทก์ทั้งสองจะหลีกเลี่ยงภาษีโดยยื่นรายการไม่ถูกต้อง โจทก์ก็อาจจะต้องรับผิดในเรื่องเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับ แต่ก็สามารถจะเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ได้ ทั้งถ้าได้รับหลักประกันของโจทก์ไว้ย่อมเห็นได้ว่าคงได้รับชำระภาษีแน่นอน เพียงแต่ต้องรอระยะเวลาเท่านั้น ทั้งตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวก็มิได้มีข้อความว่า ในกรณีที่กรมสรรพากรได้ดำเนินการไต่สวนได้มาเองแล้วผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดเสียภาษีทั้งหมดล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวแต่อย่างใด และที่จำเลยอ้างว่าตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวผู้มีเงินได้จะต้องชำระภาษีเงินได้พร้อมกันทั้งหมดให้แล้วเสร็จในปีที่ได้รับเงินนั้นโดยยอมให้เฉลี่ยเฉพาะเงินได้ตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าเท่านั้น ก็เป็นความเข้าใจของจำเลยเอง ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาภายหลังกระทรวงการคลังจึงได้มีประกาศฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 เปลี่ยนแปลงวิธีการชำระภาษีเงินได้เสียใหม่ ดังนั้นสำหรับกรณีของโจทก์ทั้งสองนี้จึงคงได้รับประโยชน์ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับเดิมอยู่เหตุต่าง ๆ ดังที่จำเลยกล่าวอ้างจึงมิใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษีในคราวเดียวกันย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share