แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ามาในสถานประกอบการของผู้ร้องมีการลงบันทึกเวลาเข้าและออกจากที่ทำงานและมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองแต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมเข้าทำงานตามที่ผู้ร้องมอบหมายถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควรผู้ร้องกล่าวในคำร้องโดยชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่า3วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรจึงเป็นมูลเหตุที่ผู้ร้องประสงค์เพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองได้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่เข้าทำงานในแผนกเป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าทำงานในหน้าที่หลายครั้ง แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของผู้ร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งให้เข้าทำงานในหน้าที่ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เหตุที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและใช้สิทธินัดหยุดงาน ผู้ร้องไม่พอใจจึงพยายามกลั่นแกล้งผู้คัดค้านทั้งสองและลูกจ้างอื่น ๆ ที่ใช้สิทธินัดหยุดงาน ทั้งตามวันเวลาที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้คัดค้านทั้งสองได้เข้าไปในสถานประกอบการของผู้ร้องเพื่อทำงานตามสภาพการจ้างเดิม แต่ผู้ร้องไม่มอบงานให้ทำ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมีการเจรจากัน แต่ตกลงกันไม่ได้ ต่อมาลูกจ้างใช้สิทธินัดหยุดงานผู้ร้องและลูกจ้างที่นัดหยุดงานตกลงกันได้ โดยลูกจ้างตกลงถอนข้อเรียกร้องและผู้ร้องตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติโดยให้เริ่มทำงานตามบันทึกข้อพิพาทแรงงานเอกสารหมาย ค.1 ระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ผู้คัดค้านทั้งสองได้เข้ามาในสถานประกอบการของผู้ร้อง มีการบันทึกลงเวลาเข้าและออกจากที่ทำงานและผู้ร้องได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างเวลาดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมเข้าปฏิบัติงานตามที่ผู้ร้องมอบหมายงานให้ทำตามหน้าที่ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควรเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.19 กรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้
ผู้คัดค้าน ทั้ง สอง อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ามาในสถานประกอบการของผู้ร้อง มีการลงบันทึกเวลาเข้าและออกจากที่ทำงานและมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองในระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมเข้าปฏิบัติงานตามที่ผู้ร้องมอบหมายงานให้ทำตามหน้าที่กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควรเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.19 ข้อ 28(4)ผู้ร้องอ้างเป็นเหตุให้ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้อที่ว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่เป็นการอุทธรณ์นอกประเด็นซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ที่ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า มูลเหตุที่ผู้ร้องอ้างขออนุญาตศาลเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองเป็นมูลเหตุที่ผู้ร้องไม่ประสงค์จะถือเป็นมูลเหตุเลิกจ้างต่อไปแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าจากที่ผู้ร้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองในวันที่31 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้ร้องหลายวันที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควรเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้ จึงเป็นการวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน กรณียังไม่อาจถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้นั้น เห็นว่า ผู้ร้องกล่าวในคำร้องโดยชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านทั้งสองละทิ้งหน้าที่โดยไม่เข้าทำงานตามหน้าที่ในแผนกที่ตนทำงานในระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นเวลาเกินกว่า3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง ดังนี้ มูลเหตุที่ผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่จึงเป็นมูลเหตุที่ผู้ร้องประสงค์จะอ้างเพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควรเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้ จึงหาได้เป็นการวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไม่ และเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยดังกล่าวย่อมมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้”
พิพากษายืน