คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3565/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์เดินออกสู่ถนนมีความกว้าง 2 เมตร ตามแนวเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระบุว่ามีความกว้าง 6 เมตร โดยไม่ได้ระบุตำแหน่งทางภารจำยอมที่แน่นอน ดังนี้ แนวทางที่จะมีการจดทะเบียนจะต้องเป็นแนวทางที่สามารถใช้เดินได้โดยไม่มีการขัดขวาง เมื่อจำเลยเลือกจดทะเบียนภารจำยอมบนแนวฟุตบาทบางส่วนและบนถนนบางส่วนโดยมีเสาไฟฟ้าและซุ้ม ต้นไม้บนฟุตบาท บางตอนโจทก์ใช้เดินไม่ได้ต้องลงไปเดินบนถนน ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ย้ายไปจดทะเบียนภารจำยอมบนถนนที่ใช้เดินได้โดยเริ่มจากขอบถนนออกไป 2 เมตรซึ่งยังอยู่ภายในแนวเส้นสีแดงได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือเพิ่มภาระ แก่ภารยทรัพย์.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยและจำเลยร่วมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยและจำเลยร่วมยอมเว้นทางเดินกว้าง 2 เมตร จดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์เดินออกสู่ซอยสายสิน และถนนประชาชื่นตามแผนที่สังเขปท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความในเส้นสีแดง ต่อมาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ถึงที่ 7 ยื่นคำร้องว่าเส้นทางที่จำเลยกำหนดไว้บนฟุตบาท และถนนบางส่วนนั้นตามสภาพที่เป็นจริงแล้วไม่สามารถใช้เดินได้ตามที่ตกลงกัน เพราะมีเสาไฟฟ้าและซุ้มต้นไม้กีดขวางอยู่ ขอให้จำเลยกำหนดแนวทางบนถนนให้จดทะเบียนภาระจำยอมเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้
จำเลยคัดค้านคำร้องของโจทก์ดังกล่าว โดยยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมตามที่ได้ตกลงไว้ในรำพิพากษาตามยอมเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดย ให้มีความกว้างยาวเท่าเดิม แต่ให้ย้ายไปจดบนถนนติดฟุตบาทด้านที่ตกลงให้จดทะเบียนภาระจำยอม หากไม่ไปให้ใช้คำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า ส่วนหนึ่งของแผนที่สังเขปในเส้นสีแดงทางด้านริม นั้นมีการทำเป็นขอบถนนและตลอดแนวส่วนนี้มีการปักเสาไฟ และซุ้มต้นไม้ไม่อาจใช้เป็นทางเดินตลอดแนวได้บางตอนต้องลงไปเดินในถนนซึ่งอยู่ในส่วนที่เป็นเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขป คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า ที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยใช้ขอบถนนเป็นแนวจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมลงวันที่ 7 สิงหาคม 2528 แล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นมิได้มีการกำหนดแนวทางด้านข้างว่าจะเริ่มที่ตรงแนวทางใดในแนวเส้นสีแดงของแผนที่สังเขปท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความในเมื่อตามคำฟ้องและความที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น การจดทะเบียนภาระจำยอมก็เพื่อประโยชน์ที่โจทก์จะใช้ทางภาระจำยอมนั้นเดินออกสู่ซอยสายสินและถนนประชาชื่น แนวทางที่จะมีการจดทะเบียนตามที่ตกลงกันจึงต้องเป็นแนวทางที่สามารถใช้ภารยทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของสามยทรัพย์คือ แนวที่ไม่มีการขัดขวางการใช้ทางเดิน ดังนั้นการกำหนดให้เริ่มแนวจากขอบถนนกว่างออกไปอีก2 เมตร โดยที่ความกว้างที่ออกไป 2 เมตรนั้น ก็ยังอยู่ในแนวเส้นสีแดงในแผนที่สังเขป จึงมีใช่การกำหนดให้จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นการฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ อันจะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น แก่ภารยทรัพย์แต่อย่างใด เพราะแนวที่กำหนดให้จดทะเบียนนั้น ก็อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ในภารยทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share