คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง การที่จำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมจากโจทก์เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่โจทก์มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยไม่ได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อโจทก์ไม่อาจมีการกระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยการนำเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ได้นั้น จำเลยจึงนำสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์ 150,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ก่อนครบกำหนดจำเลยนำเงินมาชำระให้โจทก์ 50,000 บาท และไม่ชำระอีก โจทก์ทวงถามแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 138,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วด้วยการนำเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) สาขาสาธุประดิษฐ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นไว้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยจึงนำสืบว่า ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วด้วยการนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ไม่ได้ เห็นว่า การที่จำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมจากโจทก์ เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่โจทก์มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยไม่ได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อโจทก์ ไม่อาจมีการกระทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงนำสืบดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยนำสืบว่าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยการนำเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share