คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เงินทดแทนที่ดินในส่วนที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากที่คำนวณไว้ในเบื้องต้นอีก 10 ตารางวา เป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายให้แก่โจทก์อันเนื่องจากการดำเนินการเวนคืนที่ดินของโจทก์โดยอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยเป็นการเฉพาะ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์ ตามสัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องเป็นกรณีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนกันได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 8 มีนาคม 2539 ดังนั้น หากฝ่ายจำเลยดำเนินการรังวัดจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์ในส่วนนี้ถูกต้องครบถ้วนมาตั้งแต่แรกแล้ว เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนเนื้อที่ 10 ตารางวา ซึ่งคำนวณในเบื้องต้นขาดไปเป็นเงิน 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 มีนาคม 2539 ด้วย เมื่อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้เป็นเงินที่จำเลยจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา 33 โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงิน คือนับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2539 แต่โจทก์ฟ้องดอกเบี้ยส่วนนี้ร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จึงพิพากษาให้ได้ไม่เกินคำขอ
จำเลยทั้งสามฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่เพียงว่าจำเลยทั้งสามไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าทดแทนที่ดินนับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นแล้ว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันฟ้องไม่อาจนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินอันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินจำนวน 268,545,791.85 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 157,760,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากโจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพิ่มเนื้อที่ 10 ตารางวา ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,310,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1900 เลขที่ดิน 5791 ตำบลหัวหมากใต้ อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา บางส่วนของที่ดินแปลงนี้ถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2534 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 80,000 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 13,440,000 บาท และเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วคอนกรีตจำนวน 71,937.86 บาท ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 131,000 บาท โจทก์จึงได้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีกเป็นเงินจำนวน 8,568,000 บาท รวมกับของเดิมเป็นเงินจำนวน 22,008,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว แต่ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนออกจากส่วนที่ไม่ถูกเวนคืน ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนจริงเนื้อที่ 178 ตารางวา เพิ่มขึ้นจากที่คำนวณไว้ในเบื้องต้นอีกเนื้อที่ 10 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์มีสิทธิได้รับอีกจำนวน 1,310,000 บาท ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงิน 1,310,000 บาท หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.11 ในข้อ 1 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อได้ทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วหากปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงกันมากกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าที่ดินเพิ่มให้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในขณะทำสัญญา ดังนั้น เมื่อผลการรังวัดของกรมที่ดินปรากฏว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีก 10 ตารางวา จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้มิใช่เงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 3 หรือศาลวินิจฉัยเพิ่มให้ จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบและให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้แล้วแต่โจทก์มิได้มาขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207, 210, 221 และ 369 อีกทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามวันที่และอัตราที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากที่คำนวณไว้ในเบื้องต้นอีก 10 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายให้แก่โจทก์อันเนื่องจากการดำเนินการเวนคืนที่ดินของโจทก์โดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยเป็นพิเศษเฉพาะไว้แล้ว ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์ด้วย ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.11 อันเป็นกรณีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนกันได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายฯ ซึ่งทำกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 คือ จ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมดภายในวันที่ 8 มีนาคม 2539 ดังนั้น หากฝ่ายจำเลยดำเนินการรังวัดจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์ในส่วนนี้ที่ถูกเวนคืนถูกต้องครบถ้วนมาตั้งแต่แรกแล้ว เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เนื้อที่ 10 ตารางวา ซึ่งคำนวณในเบื้องต้นขาดไปเป็นเงิน 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 มีนาคม 2539 ด้วย เมื่อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 33 ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงิน 800,000 บาท นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2539 และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้ที่จำเลยที่ 3 วินิจฉัยเพิ่มให้อีกจำนวน 510,000 บาท นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย คือวันที่ 8 มีนาคม 2539 ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 นั้น นับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยทั้งสามฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,310,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันฟ้องแล้วไม่อาจนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาได้ ซึ่งเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพียง 200 บาท แต่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์ 1,310,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยทั้งสามเสียไว้เกิน 200 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม”
พิพากษายืน

Share