คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทป12 เรื่องตามฟ้อง โดยโจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่ภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง12 เรื่อง ครั้งแรกที่เมืองฮ่องกงแล้ว ประเทศไทยและประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์น ค.ศ. 1886 ประเทศอังกฤษได้นำเอาฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมเข้าผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าวประเทศไทยและฮ่องกงจึงมีความผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าว ทั้งสองประเทศต่างให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทปอันเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง 12 เรื่อง จึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องตามข้อความในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 42 ว่า กฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว แต่กล่าวในฟ้องเพียงว่า ทั้งประเทศไทยและฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษต่างให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยไม่มีคำว่า กฎหมายอยู่หน้าประเทศก็ตาม การกล่าวว่าทั้งสองประเทศต่างให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวก็มีความหมายว่ากฎหมายของประเทศทั้งสองได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว เพราะทุกประเทศต้องปกครองโดยกฎหมาย ฟ้องของโจทก์มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยถูกต้องพอสมควรตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 เท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมืองฮ่องกงโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์วีดีโอเทปเรื่องมังกรผยอง ค่าของคนภาค 1 ภาค 2 เลือดอำมหิต หลงทางรักเจงกีสข่าน ขุนพลเจิ้นเฉินกง สามพยัคฆ์เซี่ยงไฮ้เพลงซิ่งยุคเลเซอร์ เพื่อนยากตู้ชินอู่ ทส.ดร.ซุนยัดเซ็นแค้นนี้ต้องชำระ และเรื่องตำนานอักษรกระบี่ โจทก์โฆษณาเผยแพร่ภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง 12 เรื่อง ครั้งแรกที่เมืองฮ่องกงแล้วประเทศไทยและประเทศอังกฤษต่างเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ณ กรุงเบอร์นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ณ กรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 และที่เพิ่มเติมณ กรุงเบอร์น ค.ศ. 1914 ประเทศอังกฤษได้นำเอาฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของตนเข้าผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าวด้วย ประเทศไทยและฮ่องกงจึงมีความผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าว อีกทั้งประเทศไทยและฮ่องกงต่างให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทปอันเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง 12 เรื่อง จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2530 จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลายกรรมต่างกันโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทปของโจทก์และนำออกโฆษณา โดยให้เช่าหรือนำออกจำหน่ายแก่ลูกค้าสมาชิกเพื่อการค้าของจำเลย ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์วีดีโอเทปดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และตนเองมิได้มีลิขสิทธิ์หรือสิทธิที่จะกระทำการดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานยึดภาพยนตร์วีดีโอเทปที่จำเลยทำขึ้นเป็นของกลาง เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 13, 24, 25, 26, 27, 42, 43, 44, 47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และสั่งให้ขอกลางตกเป็นของโจทก์กับให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 44 วรรคสองจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยเพิ่งกระทำผิดเป็นครั้งแรกเห็นควรรอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีภายในกำหนด 2 ปี ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเอกสารการเช่าภาพยนตร์วีดีโอเทปของกลาง ให้ภาพยนตร์วีดีโอเทปของกลางตกเป็นของผู้เสียหายและคืนแก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายค่าปรับที่ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทป12 เรื่อง ตามฟ้อง โดยโจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่ภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง12 เรื่องครั้งแรกที่เมืองฮ่องกงแล้ว ประเทศไทยและประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์น ค.ศ. 1886 ประเทศอังกฤษได้นำเอาฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมเข้าผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าวประเทศไทยและฮ่องกงจึงมีความผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าว ทั้งสองประเทศต่างให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทปอันเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้ง 12 เรื่อง จึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์วีดีโอเทปของโจทก์ และนำออกโฆษณา โดยให้เช่าหรือนำออกจำหน่ายแก่ลูกค้าหรือสมาชิกเพื่อการค้าของจำเลยทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์วีดีโอเทปดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และตนเองมิได้มีลิขสิทธิ์หรือสิทธิที่จะกระทำการดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องตามข้อความในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 ว่า “ฯลฯ และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ” แต่กล่าวในฟ้องเพียงว่า ทั้งประเทศไทยและฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษต่างให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีคำว่า “กฎหมาย” อยู่หน้าประเทศก็ตาม การกล่าวว่าทั้งสองประเทศต่างให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าวก็มีความหมายว่า กฎหมายของประเทศทั้งสองได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว เพราะทุกประเทศต้องปกครองโดยกฎหมาย ฟ้องของโจทก์มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยถูกต้องพอสมควรตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 42 เท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าฟ้องไม่ชอบนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยสมควรให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share