คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย
จำเลยจ่ายเงินค่าพาหนะให้โจทก์เนื่องจากตำแหน่งงานของโจทก์มีจำนวนแน่นอนในอัตราเดือนละ 1,200 บาท เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515
สินจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 นั้นรวมถึงค่าครองชีพและค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับด้วย เพราะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งผู้แทนขายแผนกเวชภัณฑ์ ครั้งสุดท้ายได้รับเงินเดือนเดือนละ 2,722 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,013 บาท ค่าพาหนะเดือนละ 1,200บาท และบำเหน็จการขาย (ค่าคอมมิชชั่นหรืออินเซนตีบ) เดือนละ 2,500 บาทรวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 7,435 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกสิ้นเดือนและมีวันหยุดประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และอาทิตย์ วันหยุดตามประเพณีและมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2524จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโดยโจทก์มิได้กระทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 8,166 บาท ค่าที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า 2,722 บาทซึ่งยังไม่ครบถ้วนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก 14,139 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก12,148 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วันทำงาน แต่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์3,469 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 29,756 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2524ได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนที่โจทก์ได้รับ 3 เดือนและจ่ายเงินล่วงหน้าให้อีก 1 เดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ไม่มีสมรรถภาพในการทำงานและไม่มีความรับผิดชอบซึ่งจำเลยได้ตักเตือนหลายครั้งแล้ว เงินค่าครองชีพ ค่าพาหนะ ค่าบำเหน็จ (ค่าคอมมิชชั่นหรืออินเซนตีบ) ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ค่าจ้างในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2524 จำเลยได้จ่ายล่วงหน้า 1 เดือน ให้แก่โจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องอีก โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์สิทธิของโจทก์ย่อมหมดไป การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ เมื่อเลิกจ้างเท่ากับเงินเดือนของโจทก์เดือนละ 2,722 บาท จำนวน 3 เดือนเป็นเงิน 8,166 บาทและเงินล่วงหน้า 1 เดือนเป็นการถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าครองชีพกับเงินค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้างต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย และจำเลยยังจ่ายสินจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบ ส่วนเงินบำเหน็จการขายสินค้าเป็นเงินรางวัลมิใช่ค่าจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 6,639 บาท กับสินจ้างบอกกล่าวล่วงหน้า 1,361 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมายข้อ 2 ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ “หมายความว่าเงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงิน หรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์โดยจ่ายให้ต่างหากจากเงินเดือน คือเดือนละ2,722 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,013 บาท ค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับนั้น เป็นการจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือน แม้จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือในภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงขึ้นก็ตาม ก็แสดงว่าการจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนให้โจทก์ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ ซึ่งต้องเพิ่มค่าจ้างโดยเรียกว่าค่าครองชีพให้โจทก์ ค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานนั่นเอง จึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย ส่วนเงิน 1,200 บาท ที่จำเลยจ่ายให้เป็นรายเดือนและเรียกว่าค่าพาหนะนั้นได้ความว่าเป็นการจ่ายเพื่อชดเชยการใช้ยานพาหนะในการเดินทางออกไปปฏิบัติงานของโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่ามีหลักการคำนวณค่าพาหนะแยกจ่ายต่างหาก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้จำเลยได้ชดใช้ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้เสียไปโดยแท้จริงโจทก์จะเสียมากหรือน้อยกว่าจำเลยก็คงจ่ายให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 1,200 บาท เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เนื่องจากตำแหน่งการงานของโจทก์แม้จะเรียกว่าเงินค่าพาหนะก็เป็นเงินที่ตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 2

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินค่าครองชีพและค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างในอันที่จะต้องนำมารวมคำนวณจ่ายสินจ้างเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วยนั้น เห็นว่า คำว่า “สินจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความไว้ หมายความถึงเงินค่าจ้าง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”ฉะนั้น สินจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้างที่ทำงาน เนื่องจากเงินค่าครองชีพและค่าพาหนะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้าง ฉะนั้น เงินค่าครองชีพและค่าพาหนะจึงเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างที่ต้องนำมารวมในการคำนวณสินจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มอีก 3,319.50 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์จำนวน11,319.50 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share