คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตัดฟันชักลากไม้ออกจากป่า จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุที่บริษัท ศ. ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขยายเขตสัมปทานทับที่ ไม่ยอมให้จำเลยเข้าไปชักลากไม้มาเป็นข้ออ้างว่าการชำระหนี้ตามสัญญาที่มีต่อโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัย ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่จำเลยต้องดำเนินการให้ระงับการกระทำที่ไม่ชอบซึ่งอยู่ในวิสัยจำเลยกระทำได้
เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาขึ้นแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องได้ และตามสัญญาก็มิได้บังคับว่าจะต้องให้ประธานกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิจารณาเสียก่อนจึงจะฟ้องร้องกันได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและค่าปรับเป็นเงิน 209,522 บาท 60 สตางค์ แก่โจทก์และดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเพียง 150,000 บาท จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ต้องกันมาว่า จำนวนไม้ยางที่สูญหายไปเป็นเพราะบริษัทศรีมหาราชา จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขยายเขตสัมปทาน ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปทำการชักลาก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ กรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาที่มีต่อโจทก์ได้กลายเป็นพ้นวิสัย ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องวินิจฉัย ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบจำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม้ที่ขาดจำนวนหรือสูญหายไปนั้นเป็นไม้ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างตัดฟันชักลากและเป็นไม้ที่เจ้าพนักงานป่าไม้ได้ตีราคาชักลากไว้แล้ว ตามสัญญาหมาย จ.1 ข้อ 1 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องขนส่งไม้ดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง ณ หมอนไม้บ้านเขาดิน และตามสัญญาหมาย จ.1 ข้อ 16 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาไม้เหล่านี้ไว้ด้วยดีตั้งแต่ลงมือตัดฟันจนกว่าโจทก์ผู้ว่าจ้างจะได้รับไม้ไปแล้ว ดังนั้น การที่บริษัทศรีมหาราชา จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขยายเขตสัมปทานไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปทำการชักลากไม้ดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการกับบริษัทศรีมหาราชา จำกัด ให้ระงับการกระทำอันไม่ชอบนั้นเสีย ซึ่งอยู่ในวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่สามารถดำเนินการเช่นว่านั้นได้จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุที่ว่าบริษัทศรีมหาราชา จำกัด ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปชักลากไม้ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างว่า การชำระหนี้ตามสัญญาที่มีต่อได้กลายเป็นพ้นวิสัย ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่ เมื่อไม้ขาดจำนวนหรือสูญหายไป จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อสัญญา จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย” ฯลฯ

“จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องโดยมิได้เสนอเรื่องให้ประธานกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามสัญญาหมาย จ.1 ข้อ 21 เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาขึ้นแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายก็ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ และตามสัญญาหมาย จ.1 ข้อ 21 ก็มิได้บังคับไว้ว่าจะต้องให้ประธานกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิจารณาเสียก่อนจึงจะฟ้องร้องกันได้ และเรื่องนี้จำเลยก็มิได้เสนอเรื่องให้ประธานกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิจารณาเสียก่อนประการใด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ชอบแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินค่าเสียหายและค่าปรับให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วจึงให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 150,000 บาท

Share