แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขายฝากที่ดินกับโจทก์จนครบกำหนดไถ่ถอนคืนแล้ว โจทก์จำเลยตกลงกันเป็นหนังสือว่าโจทก์จะเอาที่ดินไว้เฉพาะด้านที่ติดถนน ส่วนด้านหลังทั้งหมดคืนให้แก่จำเลย และได้มอบที่ดินให้จำเลยครอบครอง ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนด ที่ดินพิพาท จำเลยจึงฟ้องบังคับให้โจทก์โอนที่ดินให้ตามสัญญา ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทเป็นคดีนี้เช่นนี้แม้คดีทั้งสองจะพิพาทเกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน คู่ความรายเดียวกันและต่อมาคดีแรกศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องไปแล้วก็ตามแต่ก็ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เพราะคดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้ปฏิบัติตามสัญญา คดีมีประเด็นว่าสัญญามีผลบังคับหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคำฟ้องในเรื่องละเมิดเกี่ยวกับที่ดินทั้งแปลง ประเด็นแห่งคดีต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้โจทก์จะยอมให้จำเลยครอบครองที่พิพาทตลอดมาโดยมีเจตนาจะให้ที่พิพาทแก่จำเลยก็เป็นเรื่องจะให้หรือคำมั่นจะให้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิการครอบครองแล้ว การครอบครองของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยได้ฟ้องให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยตามสัญญาเพื่อแสดงการโต้แย้งสิทธิ หรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแต่โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่จำเลยฟ้องคดีดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท ปัญหาเรื่องค่าเสียหาย โจทก์ไม่ได้ฎีกา การที่โจทก์ยื่นคำแก้ ฎีกายกปัญหาข้อนี้ขึ้นให้ศาลฎีกาวินิจฉัยด้วยเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การว่าโจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินพิพาทบางส่วนให้จำเลยและมอบที่ดินให้จำเลยยึดถือครอบครองมาเกินหนึ่งปีแล้ว คดีนี้มีประเด็นอย่างเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 65/2521 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยนำที่ดินน.ส.3 ไปขายฝากไว้กับโจทก์ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ได้ไถ่ถอนคืนโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่าจะขายที่ดินให้แก่จำเลย และได้ดำเนินการไปบางประการแล้ว ต่อมาโจทก์ขอยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวแล้วได้ตกลงกันใหม่ โดยโจทก์จะเอาที่ดินที่รับซื้อฝากเฉพาะด้านหน้าติดถนนไว้ 4 ห้อง ส่วนด้านหลังทั้งหมดคืนให้แก่จำเลย แต่ในการจดทะเบียนโอนแบ่งแยก ค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการของเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์จำเลยออกฝ่ายละครึ่งตามเอกสารหมาย จ.3 และโจทก์ได้มอบที่ดินให้แก่จำเลยครอบครอง ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาท จำเลยคัดค้านและฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 65/2521 ของศาลชั้นต้นเพื่อบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2520 ครั้นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่พิพาทเป็นคดีนี้ ในขณะที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่65/2521 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์และต่อมาคดีดังกล่าวนี้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีผลผูกพันจำเลย (คดีนั้น)
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ศาลรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ แม้คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 65/2521 ของศาลชั้นต้นจะพิพาทกันเกียวกับที่ดินแปลงเดียวกัน คู่ความรายเดียวกันและอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็ตามปรากฏว่าคดีนั้นโจทก์ฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โดยให้แบ่งแยกและโอนที่ดินดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ จึงมีประเด็นว่าสัญญามีผลบังคับหรือไม่ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับซื้อฝาก แต่จำเลยไม่ยอมออกจึงฟ้องขับไล่ เป็นคำฟ้องในเรื่องละเมิดเกี่ยวกับที่ดินทั้งแปลง ประเด็นแห่งคดีทั้งสองจึงต่างกันถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144
ปัญหาว่า จำเลยได้สิทธิครอบครองหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยคงครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองก็ตาม แต่จำเลยเบิกความยอมรับในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่65/2521 ของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ยืนยันว่าให้จำเลยและบ้านของจำเลยคงอยู่ในที่ดินตลอดไป เท่ากับจำเลยอยู่ในที่พิพาทได้โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1. ระบุไว้ชัดว่าจำเลยรับว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว เท่ากับยืนยันว่าสิทธิการครอบครองเป็นของโจทก์ ซึ่งมีความหมายในตัวเองว่าจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองแล้ว แม้โจทก์จะได้อนุญาตให้จำเลยคงครอบครองในที่พิพาทหรือมีเจตนาจะขายที่ดินคืนให้แก่จำเลยหรือทำสัญญาจะให้หรือคำมั่นจะให้ที่ดินแก่จำเลยดังที่จำเลยฎีกา ก็เป็นเรื่องจะให้หรือคำมั่นจะให้ ซึ่งมีเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติอีกหลายอย่างถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิการครอบครองแล้ว การครอบครองของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์ และหลังจากทำสัญญาเอกสารหมาย จ.3 แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งหรือแสดงให้เห็นว่าจะยึดถือที่ดินเพื่อตนแม้ต่อมาจำเลยได้ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 65/2521 ของศาลชั้นต้นเพื่อแสดงการโต้แย้งสิทธิหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ หากนับระยะเวลาตั้งแต่จำเลยฟ้องคดีดังกล่าวถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่เกินหนึ่งปี จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท
ปัญหาเรื่องค่าเสียหาย โจทก์ไม่ได้ฎีกา การที่โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกายกปัญหาข้อนี้ขึ้นให้ศาลฎีกาวินิจฉัยด้วย เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ”.