คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3551/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ และมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารโจทก์กระทำการใด ๆตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับธนาคารโจทก์ ส. ได้มอบอำนาจให้ ป. รองผู้จัดการมีอำนาจกระทำการบอกกล่าว ทวงถามเรียกเก็บหนี้สิน ฟ้องคดีแพ่ง และต่อสู้คดีทั้งปวงแทนได้และมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อกระทำการดังกล่าวได้ และป. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ.และหรือค. ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อการมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย การฟ้องและดำเนินคดีของโจทก์จึงชอบแล้ว คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์กับเดินสะพัดทางบัญชีกัน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียน จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้ยังระบุ ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและวันที่คิดดอกเบี้ย ในแต่ละอัตราต่าง ๆ และระบุยอดหนี้คิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 128,931,527.86 บาท คิดดอกเบี้ย ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,169,017.73 บาท รวมเป็นหนี้ 141,100,555.59 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกัน ชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จอันเป็นรายละเอียดที่แสดงถึงสภาพแห่งข้อหา ของโจทก์ คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา โดยแจ้งชัดแล้ว ส่วนรายละเอียดหรือเอกสารเกี่ยวกับการ คิดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความชอบ ที่จะนำสืบพิสูจน์พยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาได้ แม้คำฟ้องโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดหรือเอกสารดังกล่าวมา ก็หาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นสัญญาที่ใช้ประกอบกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2527 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี สัญญาจึงย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528เว้นแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะได้ตกลงต่อสัญญากันต่อไปแต่ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาแต่อย่างใด อีกทั้งหลังวันที่2 เมษายน 2528 ซึ่งสัญญาสิ้นสุดลง โจทก์ก็ไม่ยินยอม ให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีหรือเดินสะพัดทางบัญชีกัน อีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว มิใช่สิ้นสุดเมื่อโจทก์ บอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมมีสิทธิ คิดดอกเบี้ยจากจำเลยจากยอดหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันสิ้นสุดสัญญา โดยไม่ทบต้น หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันบอกเลิกสัญญาไม่ โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกันตั้งแต่ปี 2522 เป็นหนี้ผูกพันกันตลอดมาจนถึงปี 2527 แล้วตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันต่อไปอีก และเดินสะพัดทางบัญชีต่อมาจนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 ซึ่งสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี และตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ปรากฏว่าจำเลยได้นำเงินเข้าชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2533 ชำระครั้งสุดท้ายจำนวน 5,000,000 บาท อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)เมื่อนับอายุความใหม่จนถึงวันฟ้องวันที่ 30 กรกฎาคม 2535ยังไม่เกิน 10 ปี สำหรับสิทธิเรียกร้องในต้นเงินค้างชำระและไม่เกิน 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวทั้ง 2 กรณีจึงไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ.บอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ก็ตาม แต่การบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บังคับให้ทำ เป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้แต่อย่างใดเมื่อ อ. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องบังคับจำนอง ถือได้ว่าโจทก์ ได้ให้สัตยาบันการบอกกล่าวบังคับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 แล้วการบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์เป็นไปโดยชอบมิได้ตกเป็นโมฆะ ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันทุกฉบับ และข้อความในสัญญาก็ระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการแสดงฐานะของจำเลยที่ 3ไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าค้ำประกันในฐานะส่วนตัว หาใช่จำเลยที่ 3 อ้างว่าลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้เป็น กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนเรื่องการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิ เรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในต้นเงินจำนวน 63,200,000 บาทซึ่งเป็นการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการนำเงินเข้าและถอนออกในบัญชี ช่วงเวลาใดที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ครบวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกัน พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงิน ค้ำประกันเป็นต้นไป แต่หากต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น ลูกหนี้ชั้นต้นนำเงินชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิด ในหนี้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแล้ว คงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะมีการเบิกถอนเงินจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ย นั้นอีก ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกัน พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินค้ำประกันครั้งสุดท้ายเมื่อปรากฏว่าครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินตามสัญญาค้ำประกันคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปแต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528 จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2528อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ต้องคิดดอกเบี้ย ในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1และต้องนำเงินฝากในช่วงเวลาดังกล่าวตามรายการในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาหักทอนบัญชีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 มีนายสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการตามมติคณะรัฐมนตรีเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้ ตามสำเนาข้อบังคับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2นายสิทธิชัยได้มอบอำนาจให้นายประดับ ธัญญะคุปต์รองผู้จัดการเป็นผู้กระทำการแทนและมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้ ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3นายประดับมอบอำนาจช่วงให้นายอนุสรณ์ ทองสำราญ และหรือนายคนึง ครุธาโรจน์ ฟ้องคดีนี้ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 141,100,555.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5ต่อปี ในต้นเงิน 128,931,537.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496เพราะไม่มีหลักฐานแสดงไว้นายสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์ไม่ใช่กรรมการผู้จัดการของโจทก์ ไม่ได้มอบอำนาจให้นายประดับ ธัญญะคุปต์ กระทำการแทนและไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงดังนั้นนายอนุสรณ์ ทองสำราญ และหรือนายคนึง ครุธาโรจน์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะในเรื่องจำนวนยอดหนี้ โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้เช็คเบิกจ่ายเงินไปจำนวนกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดเมื่อใดบ้าง โดยไม่แนบหลักฐานมาแสดง เนื่องจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ถึง 25ไม่ใช่หลักฐานแสดงการเป็นหนี้ โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แล้วกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใด รวมเป็นเงินเท่าใด จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ตั้งแต่เมื่อใดรวมเป็นเงินเท่าใด จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ตั้งแต่เมื่อใดเป็นเงินต้นจำนวนเท่าใด และดอกเบี้ยคิดแบบทบต้นหรือไม่ทบต้นตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน อีกทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม2534 จนถึงวันฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบใดในอัตราร้อยละเท่าใดโดยไม่แสดงการเป็นหนี้และวิธีการคิดยอดหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำเลยที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาให้ชำระหนี้และให้ไถ่ถอนจำนองของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน128,816,837.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 แต่ดอกเบี้ยเมื่อรวมกับต้นเงินจำนวนดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวน 128,931,537.86 บาทตามที่โจทก์ขอ ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินเพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2534แต่ไม่เกินจำนวน 128,931,537.86 บาท นับตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2535 จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2535 แล้วนำเงินจำนวน 3,434,343.89 บาท หักออกจากยอดหนี้ค้างชำระเพียงวันที่ 18 มีนาคม 2535 กับพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินที่คงค้างชำระเพียงวันที่ 18 มีนาคม 2535 นับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2535 เป็นต้นไป จนถึงวันฟ้องและพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 63,200,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยแบบทบต้นของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2534 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น โดยให้นำจำนวนเงินฝากตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2535มาคิดคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดให้คิดในอัตราตามเอกสารหมาย จ.46ส่วนดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้คิดในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอนุสรณ์ทองสำราญ และหรือนายคนึง ครุธาโรจน์ ฟ้องคดีนี้หรือไม่นายคนึง ครุธาโรจน์ พยานโจทก์เบิกความว่าโจทก์มีนายสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์ เป็นกรรมการผู้จัดการตามเอกสารหมาย จ.1 และนายสิทธิชัย มีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารโจทก์กระทำการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับธนาคารโจทก์ ฉบับที่ 21 เอกสารหมาย จ.2 และอาศัยข้อบังคับดังกล่าวและโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธนาคารตามมติคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 16/2533 ลงวันที่ 6 กันยายน 2533นายสิทธิชัยได้มอบอำนาจให้นายประดับ ธัญญะคุปต์รองผู้จัดการมีอำนาจกระทำการบอกกล่าวทวงถาม เรียกเก็บหนี้สินฟ้องคดีแพ่งและต่อสู้คดีทั้งปวงแทนได้ และมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อกระทำการดังกล่าวได้ รายละเอียดปรากฏตามคำสั่งธนาคารโจทก์ที่ 66/2523 เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งคำสั่งฉบับนี้ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2533 ต่อมาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2535นายประดับได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอนุสรณ์ ทองสำราญและหรือนายคนึง ครุธาโรจน์ ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 จะเห็นได้ว่าการมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตามคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้นฟ้องดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่ส่งรายงานการประชุมในการมีมติที่ 16/2533 ที่อ้างว่าเป็นเรื่องกรรมการให้ความเห็นชอบตั้งตัวแทนช่วงหรือไม่นั้น เห็นว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดและตามเอกสารที่โจทก์อ้างส่งข้างต้นก็ระบุมติดังกล่าวไว้ชัดเจนเพียงพอแล้วทั้งจำเลยทั้งสามก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าตามคำฟ้องของโจทก์ไม่แนบหลักฐานหรือระบุรายละเอียดมาให้จำเลยตรวจสอบด้วยว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีและรับเงินไปจริงหรือไม่ โจทก์เดินบัญชีอย่างไร คิดดอกเบี้ยและจำนวนหนี้อย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์กับเดินสะพัดทางบัญชีกัน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้และจำเลยที่ 2 และที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้ยังระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและวันที่คิดดอกเบี้ยในแต่ละอัตราต่าง ๆ และระบุยอดหนี้คิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534เป็นเงิน 128,931,527.86 บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,169,017.73 บาท รวมเป็นหนี้ 141,100,555.59 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อันเป็นรายละเอียดที่แสดงถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดแล้วส่วนรายละเอียดหรือเอกสารเกี่ยวกับการคิดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความชอบที่จะนำสืบพิสูจน์พยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาได้ แม้คำฟ้องโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดหรือเอกสารดังกล่าวมา ก็หาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ปัญหาประการที่สามที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าจำเลยที่ 1 รับเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม2522 ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.6และการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2522 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาก็ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มวงเงินขึ้นอีกหลายครั้ง ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.22 โดยสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.22 ทำเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524มีกำหนดชำระหนี้ 1 ปี และตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ก็ปรากฏรายการเบิกเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีในลักษณะเดินสะพัดทางบัญชีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2522 ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2527 มียอดหนี้ในวันที่ 2 เมษายน 2527 จำนวน 60,576,992.51 บาท และวันเดียวกันนี้จำเลยที่ 1 ก็ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีกฉบับหนึ่งในวงเงินจำนวน 64,330,000 บาท มีกำหนดชำระหนี้คืนภายใน 1 ปี ตามเอกสารหมาย จ.23 นอกจากนี้ในวันที่ 2 เมษายน 2527 นั้นเอง จำเลยที่ 1 ก็ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวลดวงเงินลงเหลือ63,176,992.57 บาท ตามเอกสารหมาย จ.24 และปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ว่าในวันที่ 4 เมษายน 2527 มีรายการเบิกเงินออกจากบัญชีจำนวน2,600,000 บาท ทำให้มียอดหนี้จำนวน 63,176,992.51 บาทซึ่งต่างจากวงเงินตามที่ระบุในเอกสารหมาย จ.24 เพียง 6 สตางค์เท่านั้น ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ได้เดินสะพัดทางบัญชีกันตลอดมาและนำยอดหนี้ที่ค้างชำระอยู่มาทำสัญญากันใหม่ จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามที่เบิกไปและเป็นหนี้ค้างอยู่แล้วนั้นเอง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1ก็ยังทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2527 อีกฉบับหนึ่ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 64,091,459.58 บาท ตามเอกสารหมาย จ.25 และเพิ่มวงเงินครั้งสุดท้ายเป็นเงิน 64,317,727.30 บาท ตามเอกสารหมาย จ.26และมีรายการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อมาอีกดังปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ซึ่งมีการลงบัญชีทั้งยอดเงินที่เบิกถอนและเงินที่นำเข้าฝากในบัญชีและโจทก์ยังมีเช็คเอกสารหมาย จ.48 มาสนับสนุนด้วย ดังนี้แม้บางรายการจะมีการแก้ไขบ้างก็น่าจะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้อง ส่วนรายการอื่น ๆ นั้นจำเลยทั้งสามก็ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่าผิดพลาดไม่ถูกต้องแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินและรับเงินตามที่ลงบัญชีเดินสะพัดไว้ในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 จริง
ปัญหาประการที่สี่ที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สิ้นสุดลงเมื่อไร และปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินจำนวน 3,434,343.89 บาท ที่ลงบัญชียอดเงินฝากวันที่ 19 มีนาคม 2535 ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 มาหักออกจากหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยในข้อเดียวกันเห็นว่าตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย จ.23ซึ่งเป็นสัญญาที่ใช้ประกอบกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2527 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี สัญญาจึงย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528เว้นแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะได้ตกลงต่อสัญญากันต่อไปแต่ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งข้อนี้นายคนึง ครุธาโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า หากจำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีจนเต็มวงเงินที่ตกลงกันแล้วจะเบิกเงินเกินบัญชีอีกไม่ได้ โดยจะต้องมีการตกลงกันใหม่ก่อนและตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ปรากฏว่าในวันที่ 1 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน65,755,581.88 บาท ซึ่งเกินวงเงินตามที่ตกลงกับโจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และบันทึกต่อท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.26 แล้ว และหลังจากวันที่ 2 เมษายน 2528 ยอดหนี้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1ก็เพิ่มขึ้นด้วยดอกเบี้ย โดยรายการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเป็นยอดหนี้เพิ่มขึ้นโดยตลอดจนถึงปี 2534 แม้ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจะมีรายการที่ลงว่าจำเลยนำเงินเข้าฝากในบัญชีหลายครั้งก็มีลักษณะเป็นการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ คงมีปัญหาในรายการบัญชีวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 ที่ลงรายการถอนเงินจำนวน3,213,265.49 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามฎีกาว่ารายการดังกล่าวมิใช่การถอนเงินเพื่อเดินสะพัดทางบัญชีของจำเลยที่ 1หากแต่เป็นการแก้ข้อผิดพลาดของโจทก์เอง ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 แผ่นที่ 80รายการที่ลงว่าจำเลยที่ 1 ถอนเงินจำนวน 3,213,265.49 บาทมีข้อความระบุไว้ว่า ทีอาร์เอ็น ซึ่งตามคำแปลด้านล่างเอกสารดังกล่าวหมายถึงการโอนเงิน แสดงว่าไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินจากบัญชี ซึ่งโจทก์ก็แก้ฎีกายอมรับว่าโจทก์ได้นำส่งเงินจำเลยที่ 1 แก่กรมบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงปรับปรุงบัญชีโดยโอนเงินจำนวน 3,213,265.49 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการลดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 ไปเข้าบัญชีในวันที่ 15 กรกฎาคม2534 ในช่องเงินถอนตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 จึงฟังได้ว่าการลงรายการในบัญชีว่าจำเลยที่ 1 ถอนเงินจำนวน 3,213,265.49 บาท ในวันที่15 กรกฎาคม 2534 นี้ เป็นการปรับปรุงบัญชีของโจทก์เพื่อหักทอนบัญชีในการโอนเงินเข้าชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2530 จำนวน 2,855,671.92 บาท และ 357,593.57 บาทตามลำดับ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินหรือจะให้เดินสะพัดทางบัญชีกันแต่อย่างใด ดังนี้จึงเห็นได้ว่าหลังวันที่ 2 เมษายน 2528 โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีหรือเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.23 มิใช่สิ้นสุดเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ตามฟ้องไม่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 จากยอดหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันสิ้นสุดสัญญาโดยไม่ทบต้น หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 จึงไม่ชอบ สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินจำนวน 3,434,343.89 บาท ที่ลงบัญชียอดเงินฝากวันที่ 19 มีนาคม 2535 ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 หักออกจากหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นการหักชำระหนี้ซ้ำซ้อนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 แผ่นที่ 81 แล้วปรากฏว่าโจทก์คิดยอดหนี้ในวันที่บอกเลิกสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2534เป็นเงิน 128,931,537.86 บาท ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2535และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 มีรายการคิดดอกเบี้ยเข้าทบต้นเงินอีกจำนวน 1,835,198.78 บาท และ 1,599,145.11 บาทตามลำดับ ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2535 มีรายการนำเงินเข้าฝากจำนวน 3,434,343.89 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ย 2 จำนวน ดังกล่าวรวมกันเมื่อหักออกจากหนี้แล้วคงเหลือจำนวน128,816,837.94 บาท เท่ากับยอดหนี้ วันที่ 30 ธันวาคม 2534และตามคำฟ้องโจทก์แยกคิดดอกเบี้ยจากยอดเงิน 128,931,537 บาทนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 12,169,017.73 บาท ต่างหาก แสดงว่าจำนวนเงิน 3,434,343.89 บาท ที่ทำรายการนำฝากในวันที่ 19 มีนาคม 2535 ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงบัญชีที่คิดดอกเบี้ยไปโดยไม่ถูกต้องทั้งจำเลยที่ 1 ก็นำสืบว่าชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2533 จำนวน 5,000,000 บาท เท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่ายอดเงินจำนวน 3,434,343.89 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 1นำเข้าบัญชีชำระหนี้ แต่เป็นการที่โจทก์ปรับปรุงแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักชำระหนี้จึงไม่ถูกต้อง
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เท่าใดนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รายการบัญชีที่ลงรายการถอนเงินจำนวน3,213,265.49 บาท และเข้าฝากจำนวน 3,434,343.89 บาทเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 19 มีนาคม 2535ตามลำดับ ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49เป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องดังวินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้เมื่อพิจารณาการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 และเป็นหนี้โจทก์จำนวน 64,314,975.65 บาท ซึ่งยังไม่เกินวงเงินที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จึงคิดยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินในการคำนวณดอกเบี้ยและตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยยอมให้ดอกเบี้ยโจทก์อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้แต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามเอกสารหมาย จ.23, จ.46 และ จ.47 ซึ่งอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีและหลังเลิกสัญญาก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยที่ 1จะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยที่ 1ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยหลังเลิกสัญญาระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2529 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2529 ถึงวันที่31 มีนาคม 2529 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2529 ถึงวันที่22 มีนาคม 2533 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2533 ถึงวันที่31 กรกฎาคม 2533 ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่31 กรกฎาคม 2534 ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่10 พฤศจิกายน 2534 ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่15 ธันวาคม 2534 ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2534 ถึงวันฟ้อง(วันที่ 30 กรกฎาคม 2535) โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี 17 ต่อปี 15 ต่อปี 16 ต่อปี 16.75 ต่อปี 17.5 ต่อปี16.75 ต่อปี และ 16.25 ต่อปี ตามลำดับ จึงต้องเป็นไปตามคำขอของโจทก์ซึ่งไม่เกินอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 64,314,975.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527ถึงวันที่ 2 เมษายน 2528 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเมื่อได้เป็นยอดหนี้เท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต่อไปหลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันโดยไม่ทบต้นนับแต่วันที่3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 31มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน2529 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2533 อัตราร้อยละ 16 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2533อัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่31 กรกฎาคม 2534 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2534 อัตราร้อยละ16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่15 ธันวาคม 2534 อัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่16 ธันวาคม 2534 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2535)และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำยอดเงินฝากระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2533ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 มาหักทอนบัญชีออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในวันชำระหนี้ด้วยโดยชำระหนี้ดอกเบี้ยก่อน เหลือจากนั้นให้ชำระต้นเงิน แต่ทั้งนี้ไม่ต้องนำยอดเงินฝากจำนวน 2,855,671.92 บาท และ 357,593.57 บาท ในวันที่ 9 มิถุนายน 2530 และยอดเงินฝากจำนวน 3,434,343.89 บาท วันที่ 19 มีนาคม 2535 ซึ่งโจทก์ปรับปรุงแก้ไขแล้วมาหักทอนบัญชี
ปัญหาประการที่ห้าที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกันตั้งแต่ปี 2522 เป็นหนี้ผูกพันกันตลอดมาจนถึงปี 2527 แล้วตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันต่อไปอีก และเดินสะพัดทางบัญชีต่อมาจนสิ้นสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 ซึ่งสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี และตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.49 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2533 ชำระครั้งสุดท้าย จำนวน 5,000,000 บาท อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) เมื่อนับอายุความใหม่ จนถึงวันฟ้องวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 ยังไม่เกิน 10 ปี สำหรับสิทธิเรียกร้องในต้นเงินค้างชำระ และไม่เกิน 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ ดังนี้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวทั้ง 2 กรณีจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาประการที่หกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอนุสรณ์ ทองสำราญ บอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ก็ตามแต่การบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 728 บังคับให้ทำเป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้แต่อย่างใดเมื่อนายอนุสรณ์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องบังคับจำนอง ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันการบอกกล่าวบังคับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์เป็นไปโดยชอบ
ปัญหาประการที่เจ็ดที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามมีว่าจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.41 ถึง จ.45 จำเลยฎีกายอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันทุกฉบับและข้อความในสัญญาก็ระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการแสดงฐานะของจำเลยที่ 3ไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมฟังไม่ขึ้นทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันจำเลยที่ 1 สำหรับเรื่องการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 3 นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด ฎีกาส่วนนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายมีว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.45 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 63,200,000 บาท ซึ่งเป็นการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและยอดหนี้ของจำเลยที่ 1อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการนำเงินเข้าและถอนออกในบัญชีช่วงเวลาใดที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ครบวงเงินค้ำประกันผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็นต้นไปแต่หากต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นนำเงินชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแล้วคงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะมีการเบิกถอนเงินจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีกผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินค้ำประกันครั้งสุดท้าย ซึ่งตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ปรากฏว่าครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินตามสัญญาค้ำประกันคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ดังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน2527 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมรับผิดตามวงเงินค้ำประกันจำนวน 63,200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 จึงชอบแล้วแต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้เสียดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม2534 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2528 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้คิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.46 และให้นำเงินฝากในช่วงเวลาดังกล่าวตามรายการในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49 ที่วินิจฉัยมาแล้ว มาหักทอนบัญชีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน64,314,975.65 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมรับผิดจำนวน 63,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2528 หลังจากนั้นชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราเดียวกันของต้นเงินที่คำนวณได้ ณ วันที่2 เมษายน 2528 นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่1 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2533อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2533 ถึงวันที่31 กรกฎาคม 2533 อัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 อัตราร้อยละ 17.5ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2534 อัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2534ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2534 อัตราร้อยละ 16.25 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2534 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม2535) และอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้นำยอดเงินฝากระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2533ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.49มาหักทอนบัญชีออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในวันชำระหนี้ด้วยโดยชำระหนี้ดอกเบี้ยก่อนเหลือจากนั้นให้ชำระต้นเงิน แต่ไม่ต้องนำยอดเงินฝากจำนวน 2,855,671.92 บาท และ 357,593.57 บาท ในวันที่ 9 มิถุนายน 2530 และยอดเงินฝากจำนวน 3,434,343.89 บาทในวันที่ 19 มีนาคม 2535 มาหักทอนบัญชี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share