แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือน โจทก์จะต้องปฏิบัติตนตามวินัยข้าราชการพลเรือนโดยต้องรักษาชื่อเสียง มิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว เมื่อโจทก์ถูกกล่าวหาว่า ไม่รักษาชื่อเสียง อันขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วแล้ว แม้ขณะเกิดข้อพิพาท โจทก์จะได้รับคำสั่งให้ไปช่วยงานในบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ก็ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนได้
จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งซึ่งสั่งตามอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนอันเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารจะสั่งได้โดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลจะเข้าไปชี้ขาดในเรื่องเช่นนี้ โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 818/2499)
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน แต่คำบรรยายฟ้องเกี่ยวแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 ถึง 24 ไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร และที่กล่าวฟ้องว่าจำเลยที่ 8 ถึง 24 ทำการประชุมด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ไม่ปรากฏว่าได้กระทำอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าละเมิด ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1ที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิม และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาฐานละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จำเลยอื่นนอกจากนั้นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1, 8 ถึง 24 เพราะไม่มีคำฟ้องอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผลแห่งคำสั่งของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มิได้ฟ้องในฐานะที่โจทก์เป็นข้าราชการ และการถูกกล่าวหาของโจทก์มิใช่งานในหน้าที่ราชการ เป็นเรื่องของนิติบุคคลต่างหาก จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 8 ถึง 24 ในฐานะ อ.ก.พ. จะพิจารณา และไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ จะสั่งลงโทษได้นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์เองก็อ้างมาว่าโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามฐานะเดิม เช่นนี้ การที่โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องในฐานะโจทก์เป็นข้าราชการ และการกล่าวหาโจทก์มิใช่ในหน้าที่ราชการนั้น จึงเป็นการเถียงฝืนความจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาเป็นเหตุฟ้อง ข้ออ้างโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนในข้อที่ว่างานที่สอบสวนสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ เป็นการทำงานในหน้าที่การงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด อันเป็นนิติบุคคลต่างหากจากราชการ จำเลยไม่มีสิทธิจะนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้แก่โจทก์ได้นั้น เห็นว่า ในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนโจทก์จะต้องปฏิบัติตนตามวินัยข้าราชการพลเรือนซึ่งมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนต้องรักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ฉะนั้น เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติชั่วแล้วแม้จะเป็นงานเกี่ยวแก่บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยงานในบริษัทดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ยังรับราชการอยู่ โจทก์จะต้องประพฤติและปฏิบัติตนตามวินัยข้าราชการพลเรือนแต่เมื่อโจทก์ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาชื่อเสียงอันขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจะนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาในเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติงานเกี่ยวแก่บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ไม่ได้ นั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1ที่ได้สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งตามอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน อันเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารจะสั่งได้โดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลจะเข้าไปชี้ขาดในเรื่องเช่นนี้ ดังนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 818/2499 ระหว่างหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ โจทก์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี จำเลย เหตุนี้ ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ควรรับไว้พิจารณา
ส่วนคำขอของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้นจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 ถึงจำเลยที่ 24 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร และที่กล่าวฟ้องว่า จำเลยที่ 8 ถึงจำเลยที่ 24 ทำการประชุมด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้กระทำอย่างไร ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ไม่ควรรับไว้พิจารณาการที่ศาลล่างไม่รับคำฟ้องดังกล่าวของโจทก์ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาขอให้สั่งรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 ถึงจำเลยที่ 24 จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่เป็นผลแก่คดีโจทก์
พิพากษายืน