คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3548/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยโต้เถียงสิทธิครอบครองที่ดินกันอยู่ การที่จำเลยเข้าไปไถปรับที่ดินก็ด้วยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิโดยชอบ ที่จะเข้าไปทำได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกและทำให้ เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าที่อยู่ในที่ดินพิพาทที่จำเลย ทำให้เสียหาย คดีอาญาฟังไม่ได้ว่า จำเลยทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40ก็ตาม และศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายจึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 370และเลขที่ 371 เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวาและ 8 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่4 เมษายน 2535 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามได้บุกรุกโดยนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถดันที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงทางด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ติดต่อกัน ส่วนที่บุกรุกกว้างประมาณ 2 วายาวประมาณ 2 เส้น 10 วา เพื่อยึดถือครอบครองที่ดินบางส่วนโดยจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ และจำเลยทั้งสามได้ทำลายทรัพย์ของโจทก์โดยการใช้รถแทรกเตอร์ไถดันคันนายาวประมาณ 2 เส้นเศษค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ไถดันต้นหว้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 15 ต้น ราคาต้นละ3,000 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 45,000 บาท ไถดันรางชักน้ำเข้านาซึ่งทำด้วยไม้ยาวประมาณ 50 เมตร ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ70,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,358, 362, 365 และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน70,000 บาทแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยบุกรุกไถดันที่ดินและทำลายทรัพย์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไถดันในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ต้นหว้าและไม้กระดานอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ยกคำขอส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และมาตรา 358การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 อายุ81 ปี และพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1ไม่ร้ายแรงนัก โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์สินแก่โจทก์เป็นเงิน30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่งนั้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ได้จ้างรถแทรกเตอร์เข้าไปไถปรับคันนาและที่ดินพิพาทเป็นเหตุให้ต้นหว้าบนคันนาได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ และต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 1นำสืบมาเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังโต้เถียงสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปไถปรับที่ดินก็โดยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโดยชอบที่จะเข้าไปทำได้จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าของโจทก์นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางถนอมศรีพยานโจทก์ว่าต้นหว้าดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มิใช่โจทก์เป็นผู้ปลูกไว้เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท คันนาและต้นหว้าอยู่ในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าด้วย เมื่อในคดีอาญาฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้คดีส่วนแพ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ก็ตาม แต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share