แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของนายกิตติได้ประมาทเลินเล่อต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งที่โจทก์วางไว้ ละเลยไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบการเก็บเงิน รับเงินและส่งเงินของนายกิตติผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจนเป็นเหตุให้นายกิตติ ทุจริตเบียดบังเงินค่าน้ำประปาและค่ามาตราวัดน้ำจำนวน 815,985.08 บาทของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งผิดสัญญาจ้างและสัญญาตัวแทนเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ ดังนี้เป็นคำบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับที่นายกิตติเบียดบังอย่างไร จำเลยที่ 4 และที่ 6 ประมาทเลินเล่ออย่างไร โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของโจทก์ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเบียดบังเอาเงินค่าน้ำประปาของโจทก์ไป เป็นการประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานตามหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เท่าที่โจทก์เสียหายไป
ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้กำหนดตัวผู้บังคับบัญชาที่จะต้องรับผิดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาในกรณีที่มีการทุจริตทำให้เสียหายมิใช่กฎหมาย ดังนั้น จะถือว่าผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเด็ดขาดเสมอไปมิได้ การกระทำใด ๆจะเป็นละเมิดหรือไม่ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
บรรยายฟ้องว่าจำเลยประมาทเลินเล่อปล่อยให้นายกิตติยักยอกเงินของโจทก์ไป แต่นำสืบว่า นายกิตติซึ่งมีหน้าที่จ่ายใบเสร็จรับเงินให้พนักงานอื่นไปเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำประปาได้เอาใบเสร็จรับเงินไปเก็บเงินเสียเองแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์ได้ร่วมกันกระทำผิดระเบียบและคำสั่งของโจทก์ ละเลยไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบการเก็บเงินการรับเงิน และการส่งเงินและไม่ตรวจสอบบิลค่าน้ำประปาในความรับผิดชอบของนายกิตติผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้นายกิตติทุจริตเบียดบังเงินค่าน้ำประปาและเงินค่ารักษามาตรวัดน้ำจำนวน 815,985.08 บาท ของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นการผิดสัญญาจ้างและสัญญาตัวแทนเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของนายกิตติ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การทำนองเดียวกันว่า ได้ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 3 แล้ว มิได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ใช้เงินจำนวน 815,985.08 บาทและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยอื่น
จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7 ด้วย
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในประเด็นที่ว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องฟังได้ชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของนายกิตติได้ประมาทเลินเล่อต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งผิดสัญญาจ้างและสัญญาตัวแทนเป็นการเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จำนวนเงิน 815,985.08 บาทและบรรยายถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็คือจำเลยที่ 4 และที่ 6ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งที่โจทก์วางไว้ ละเลยไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบการเก็บเงิน การรับเงิน และการส่งเงินของนายกิตติผู้ใต้บังคับบัญชาจนเป็นเหตุให้นายกิตติทุจริตเบียดบังเงินค่าน้ำประปาและเงินค่ามาตรวัดน้ำจำนวน815,985.08 บาท ของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับที่นายกิตติเบียดบังเงินค่าน้ำประปาและเงินค่ามาตรวัดน้ำของโจทก์อย่างไรและจำเลยที่ 4 และที่ 6 ประมาทเลินเล่ออย่างไรนั้น โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นใกล้ชิดที่สุดของนายกิตติซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมใบเสร็จรับเงินของเขต 3 จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกรายได้ ซึ่งตามข้อบังคับการประปานครหลวงฉบับที่ 7 ว่าด้วยการรับ – จ่าย การเก็บรักษาเงิน พ.ศ. 2512 ข้อ 16 ข้อ 20 และข้อ 21ตามเอกสารหมาย จ.34 ได้กำหนดให้หัวหน้าแผนกรายได้มีหน้าที่จ่ายใบเสร็จรับเงินให้พนักงานเก็บเงินไปเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำประปา ตรวจสอบจำนวนเงินตามใบนำส่ง และจำนวนใบเสร็จรับเงินคงเหลือให้ถูกต้องตรงกันส่วนจำเลยที่ 6 ดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานควบคุมเขต 1 ถึงเขต 6 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายใบเสร็จรับเงินแก่พนักงานควบคุมใบเสร็จรับเงินเพื่อมอบให้พนักงานเก็บเงินไปเก็บเงินโดยตรง และมีหน้าที่ตรวจสอบจำนวนใบเสร็จรับเงินที่เก็บเงินได้และไม่ได้เป็นประจำวัน ฉะนั้นหากจำเลยที่ 4 และที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของโจทก์แล้วจะสามารถควบคุมไม่ให้นายกิตติทุจริตเอาใบเสร็จรับเงินไปเก็บเงินแล้วเบียดบังเอาเงินไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัวได้ เหตุที่นายกิตติกระทำทุจริตเบียดบังเอาเงินค่าน้ำประปาของโจทก์ได้ก้เพราะจำเลยที่ 4 และที่ 6ขาดความระมัดระวังและปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบเป็นประจำวันว่าใบเสร็จรับเงินที่เก็บเงินได้และไม่ได้ พร้อมทั้งจำนวนเงินที่เก็บได้ว่ามียอดครบถ้วนตรงกันหรือไม่ จำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ และต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เท่าที่โจทก์เสียหายไปคือเป็นเงิน 815,985.08 บาท
ส่วนประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้กำหนดตัวผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาในกรณีที่มีการทุจริตทำให้เสียหายนั้นมิใช่กฎหมาย จะถือว่าผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเด็ดขาดเสมอไปมิได้การกระทำใด ๆ จะเป็นการละเมิดหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บังคับไว้
ที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยประมาทเลินเล่อปล่อยให้นายกิตติยักยอกเอาเงินของโจทก์ไป แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับนำสืบว่านายกิตติยักยอกเอาใบเสร็จรับเงินไปแล้วไปเก็บเงินเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัวข้อนำสืบของโจทก์จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายกิตติมีหน้าที่จ่ายใบเสร็จรับเงินให้พนักงานเก็บเงินไปเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำประปาเมื่อพนักงานเก็บเงินเก็บเงินไม่ได้จะต้องนำใบเสร็จรับเงินนั้นมาคืนนายกิตติแล้วนายกิตติเก็บรักษาไว้เพื่อรอให้พนักงานเก็บเงินนำไปเก็บเงินใหม่หรือรอให้ผู้ใช้น้ำประปานำเงินมาชำระเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายกิตติเป็นผู้ครอบครองรักษาใบเสร็จรับเงินนั้นไว้ ครั้งเมื่อนายกิตติเอาใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นไปเก็บเงินเสียเองแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว จึงถือได้ว่าได้ว่านายกิตติเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปไม่เป็นการสืบนอกฟ้องแต่ประการใด