แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาตามยอมก่อนที่ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมจะมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 หลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติมีผลใช้บังคับแก่คู่ความแล้ว คดีของจำเลยจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยลูกหนี้ตามพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้อีกต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,949,332.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,489,848.05 บาท นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยจะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีโดยยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 29665 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และในการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวในครั้งที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นจำนวน 1,700,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยไปโดยไม่รับฟังคำคัดค้านราคาของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีควรจะขายทรัพย์จำนองดังกล่าวได้ราคามากกว่าที่ขายไป ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสี่ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 แม้จะปรากฏว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ก่อนที่มาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่จะมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 หลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติมีผลใช้บังคับแก่คู่ความแล้ว คดีของจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้อีกต่อไป ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี (ของต้นเงินจำนวน 2,489,848.05 บาท ตามคำพิพากษาตามยอม) ในช่วงเวลาที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนอง คือ นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2542 จนถึงวันที่โจทก์นำเงินค่าประกาศขายทอดตลาดไปวางแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเนิ่นช้าออกไปเป็นการกระทำของโจทก์ไม่ใช่ความผิดของจำเลยนั้น ถือได้ว่าเป็นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะฎีกาได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาให้แก่จำเลย