คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 40 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 40 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีปริมาณ 40 หน่วยการใช้ หรือมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปตามที่โจทก์ฎีกา กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 40 เม็ด น้ำหนักเฉพาะวัตถุของกลาง 3.75 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ทราบจำนวนและปริมาณที่แน่นอน โดยวิธีสูด รับ กลืน กิน เข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายจำนวน 40 เม็ด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง กับบวกโทษจำคุกจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3589/2544 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3807/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91, 100/1 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับฐานะของผู้กระทำความผิดเห็นสมควรลงโทษปรับน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงลงโทษปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และคำรับของจำเลยในชั้นจับกุมฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนกึ่งหนึ่ง และลดโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานเสพเมทแอมเฟตามีน 6 เดือน จำคุกฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 3 ปี 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 15 เดือน และปรับ 6,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3589/2544 ของศาลชั้นต้น และโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3807/2544 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 รวมจำคุก 3 ปี 27 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคงจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 3 เดือน บวกโทษจำคุกคดีละ 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3589/2544 และ 3807/2544 ของศาลชั้นต้นตามลำดับเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุก 4 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายประการเดียวว่า การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองจำนวน 40 เม็ด เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 ว่า เป็นการมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป จึงเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ประกอบด้วยมาตรา 225 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทศุภกิติ์ ชัยสาร เจ้าพนักงานตำรวจประจำตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 40 เม็ด ในความครอบครองของจำเลย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และใช้บังคับขณะกระทำความผิด บัญญัติมีความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำพวกแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน หากมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 3) ได้ให้บทนิยามคำว่าหน่วยการใช้ หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง ตามบทนิยามดังกล่าว คำว่า หน่วยการใช้ ย่อมหมายถึงปริมาณยาเสพติดให้โทษในรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไปหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างทำขึ้นโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 40 เม็ด มิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 40 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีปริมาณ 40 หน่วยการใช้ หรือมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปตามที่โจทก์ฎีกา กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share