แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาตรา 3 และมาตรา 5 จำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของ นายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนและโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศ คำสั่งของ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าาที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโจทก์โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงยังไม่ถึงที่สุดแม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ คำดังกล่าวก็หาได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารชนิดใด หรือบ่งบอกถึงคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่าเป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์ แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัยแต่อย่างใดไม่แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่าคำว่า TRUSTY จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรงแต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอ ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว จึงชอบแล้ว