แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องนำสืบพยานและอ้างส่งสำเนาพินัยกรรมต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีระบุพยาน และเป็นเอกสารที่ผู้ร้องต้องส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ ก็ถือเป็นการไม่ชอบ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดก โดยผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือ ส. เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่าที่ดินตามพินัยกรรมเป็นของผู้คัดค้านนั้น เป็นการอ้างว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้าน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว
ผู้ตายมาพบเจ้าพนักงานปกครอง และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วเจ้าพนักงานปกครองพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย เมื่อไปพบผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตแล้ว เจ้าพนักงานปกครองอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตาย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และพยานสองคนฟัง ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตายและพยานสองคนลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไป ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นายกิตติพงษ์ ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ร้องกับบุคคลอื่น และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งนางโสภา เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและนางโสภา เป็นผู้จัดการมรดกของนายกิตติพงษ์ ผู้ตายร่วมกันให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นายกิตติพงษ์ ผู้ตายเป็นบุตรของผู้คัดค้านกับนายสรวุฒิ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและนางโสภา เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่ตั้งนางโสภาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงถึงที่สุด ต่อมาผู้ร้องขอให้ถอนนางโสภาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนางโสภาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ผู้คัดค้านมิได้ฎีกา คดีในส่วนที่ถอนนางโสภาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงถึงที่สุดและเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2559
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า บัญชีพยานของผู้ร้องลงวันที่ 27 มกราคม 2558 อันดับที่ 7 ที่ระบุว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของผู้ตาย เขียนที่สำนักงานเขตราชเทวี วันที่ 19 เมษายน 2556 มิใช่พินัยกรรม ซึ่งมีตราประทับของเจ้าพนักงาน ผู้ร้องมิได้ส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 การรับฟังสำเนาพินัยกรรมไม่ชอบ นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ร้องนำสืบพยานและอ้างส่งสำเนาพินัยกรรมต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีระบุพยาน และเป็นเอกสารที่ผู้ร้องต้องส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ ก็ถือเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกที่ว่า ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านในฐานะผู้มีส่วนได้เสียด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้งนางโสภาเป็นผู้จัดการมรดก โดยผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือนางโสภา เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่าที่ดินตามพินัยกรรมเป็นของผู้คัดค้าน นั้น เป็นการอ้างว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้าน จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปที่ว่า ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมต่อหน้านางมัลลิกา และนายนพดล พยานในพินัยกรรมพร้อมกัน นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านของพยานดังกล่าวนั้น เป็นเหตุการณ์ในช่วงที่ผู้ตายมาพบนายประชากร และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วนายประชากรพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย ก่อนที่นายประชากร ผู้ตาย นายนพดล และนางมัลลิกาจะเข้าไปพบนายปรีชา ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตราชเทวี ซึ่งเมื่อได้ความตามที่ผู้ร้องนำสืบโดยผู้คัดค้านไม่ฎีกาคัดค้านว่า เมื่อไปพบนายปรีชาแล้ว นายประชากรอ่านข้อความในพินัยกรรม ให้ผู้ตาย นายปรีชา และนายนพดลและนางมัลลิกา พยานในพินัยกรรมฟัง นายปรีชาสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตาย นายนพดลและนางมัลลิกาลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของนายปรีชาและการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และนายปรีชาลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไปแต่อย่างใด ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ