แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติว่า “…ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น บทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีอากรค้างสำหรับยอดภาษีที่ค้างชำระตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.40 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระได้ ในการทำสัญญาผ่อนชำระของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินรวม 30 แปลง เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรภายหลังที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาผ่อนชำระ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดโดยผ่อนชำระไม่เป็นไปตามงวดหลายครั้งอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำร้องที่จำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระต่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกการผ่อนชำระไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าภาษีที่ค้างมาชำระเฉพาะค่าภาษีจนหมดคงค้างแต่เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 1,568,132.31 บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระแต่อย่างใด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารท้ายฟ้องและสำนวนการตรวจสอบรวมทั้งสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลแทนการสืบพยาน
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระภาษีบำรุงเทศบาลเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 แล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติว่า “…ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 733 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ร่วม แต่เป็นผู้จำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง