คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งอันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวเลิกสัญญาจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับการบอกกล่าวได้รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่เมื่อทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดจ่ายโบนัสประจำครึ่งปีแรก เป็นเงิน 49,300 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 49,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด 9,000,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 21,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งแปดให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเสียหายจากการละเมิด ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37,796.66 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 เวลา 17.30 นาฬิกา เป็นเวลาเลิกงานแล้ว การบอกเลิกจ้างโจทก์จึงนับในวันถัดไปคือวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 54 วัน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง …เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยกำหนดให้ต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง อันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่รับการบอกกล่าวได้รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน ดังนั้น การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share