คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3533/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องโดยระบุข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้องว่า ผิดสัญญาจ้างแรงงาน ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรียกค่าเสียหาย และในคำฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 โจทก์บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสระบุรี มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติและบริหารงานของผู้จัดการสาขา ช่วยดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสาขาทุกระบบงานโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดูแลการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้โจทก์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรี แต่จำเลยไปไม่ทันกำหนดเวลาขายทอดตลาด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดอนุมัติให้ขาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลักแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นสำคัญ ส่วนการบรรยายฟ้องถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็เป็นการบรรยายฟ้องถึงลำดับเหตุการณ์ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องคือวันที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนับถึงวันฟ้อง ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ก่อนขายทอดตลาดประมาณ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ โดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าจะต้องไปก่อนเวลาขายทอดตลาด และการขายทอดตลาดครั้งก่อนมีผู้สู้ราคาและมีการคัดค้าน ซึ่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สำคัญที่จำเลยต้องไปดูแลและเตรียมความพร้อมโดยตรวจสอบสำนวนคดีและเส้นทางที่จะไปสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีล่วงหน้า ซึ่งจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อม การที่จำเลยไปไม่ทันกำหนดจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 316,971.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 284,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี โจทก์ได้รับบันทึกข้อความจากกรมบัญชีกลางที่แจ้งให้โจทก์ดำเนินการให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 เมื่อนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสระบุรีและทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์เป็นเวลา 10 ปีเศษ จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต ทำหน้าที่ดูแลการขายทอดตลาดตามที่ได้รับมอบหมายแต่ไปไม่ทันการขายทอดตลาด ระเบียบการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าต้องไปก่อนเวลาการขายทอดตลาด และจำเลยทราบว่าในการขายทอดตลาดครั้งที่ 7 มีผู้สู้ราคาและผู้คัดค้าน ซึ่งมีระเบียบว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งสำคัญที่ต้องดูแล ทั้งเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่โจทก์ไปถึงสำนักงานบังคับคดีก่อนขายทอดตลาดแต่ไม่เข้าสู้ราคา จึงมีการขายทอดตลาดต่ำกว่ากำหนด และกระทรวงการคลังให้รับผิด จึงฟังได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบราคาประเมินของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด ยอดหนี้ตามคำพิพากษา และราคาที่โจทก์อนุมัติให้ขาย กับราคาที่ขายทอดตลาดแล้ว เห็นควรให้ค่าเสียหายตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 284,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่จำเลยรับทราบคำสั่ง (วันที่ 22 มกราคม 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 สิงหาคม 2553) ต้องไม่เกิน 32,971.14 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยระบุข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้องว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรียกค่าเสียหาย ในคำฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 โจทก์บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสระบุรี มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติและบริหารงานของผู้จัดการสาขา ช่วยดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสาขาในทุกระบบงานโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ ทั้งที่มีอยู่และที่จะมีต่อไปในภายหน้าเพื่อให้ลุล่วงไปโดยสุจริตและถูกต้อง วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดูแลการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้โจทก์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรี แต่จำเลยไปไม่ทันกำหนดเวลาขายทอดตลาด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ไปในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดอนุมัติให้ขาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างโจทก์ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในมูลสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลักแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นสำคัญ และการที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่าไม่มีผู้ต้องรับผิดนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว จะถือว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลสัญญาจ้างแรงงานหาได้ไม่ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างถึงการที่โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการบรรยายให้เห็นถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องละเมิดมาใช้บังคับในคดีนี้ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน คิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า การที่จำเลยไปไม่ทันกำหนดเวลาขายทอดตลาดเกิดจากเหตุสุดวิสัย อันทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติว่า “คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น” แต่ในคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า นายยศวริศยื่นใบลาพักผ่อนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 โดยลาระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 และมีการทำใบมอบอำนาจให้นางวัลภาหรือจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดูแลการขายทอดตลาดแทนนายยศวริศ วันที่ 31 มกราคม 2548 นางวัลภามีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนอย่างรุนแรง ญาตินำส่งโรงพยาบาลในเวลา 19.46 นาฬิกา ตามรายงานสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงยุติตามที่จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยย้ายไปที่สาขาสระบุรีวันที่ 17 มกราคม 2548 มีการขายทอดตลาดครั้งที่ 8 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โดยจำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดก่อนหน้านั้น 3 ถึง 4 วัน มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ที่ระบุว่าต้องไปก่อนเวลาขายทอดตลาด ในการขายทอดตลาดครั้งที่ 7 มีผู้สู้ราคาและมีการคัดค้าน ซึ่งมีระเบียบว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สำคัญที่ต้องดูแล แสดงว่าจำเลยทราบล่วงหน้าแล้ว 3 ถึง 4 วัน ก่อนวันขายทอดตลาดว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดด้วย จำเลยจึงมีเวลาที่จะเตรียมการให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แม้นางวัลภาจะได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดด้วยก็ตาม ก็มิได้ทำให้จำเลยพ้นไปจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ทั้งจำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขามีหน้าที่ช่วยดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานในสาขาและการขายทอดตลาดในครั้งนี้เป็นครั้งที่สำคัญ จำเลยควรจะต้องไปดูแลการขายทอดตลาดในครั้งนี้ด้วยและต้องเตรียมความพร้อมโดยควรจะตรวจสอบสำนวนคดีและเส้นทางที่จะไปสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีล่วงหน้า พร้อมทั้งคอยติดต่อประสานงานกับนางวัลภา ซึ่งจะทำให้จำเลยสามารถเดินทางไปดูแลการขายทอดตลาดครั้งนี้ได้ทัน การที่จำเลยเดินทางไปไม่ทันการขายทอดตลาดจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้ง ๆ ที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์มอบหมายให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share