คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงกันเข้าเป็นหุ้นส่วนค้าขายผ้าไหมเพื่อแบ่งปันผลกำไรตามสัดส่วนของเงินลงทุน ต่อมาโจทก์ถอนตัวออกจากหุ้นส่วนและจำเลยยินยอมให้โจทก์ถอนตัวโดยคืนเงินลงทุนให้ครบถ้วนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงเลิกหุ้นส่วนกัน แต่เมื่อยังไม่ได้ตกลงเรื่องแบ่งปันผลกำไรที่ยังเหลือและทรัพย์สินย่อมต้องจัดให้มีการชำระบัญชีกันก่อน จึงจะทราบว่าหุ้นส่วนมีทรัพย์สินอยู่เพียงใดชอบที่โจทก์จะต้องร้องขอให้ตั้งผู้ชำระบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อเรียกเงินปันผลกำไรและส่วนแบ่งในทรัพย์สินของหุ้นส่วนก่อน และปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เข้าหุ้นกับจำเลยค้าขายผ้าไหมเมื่อเลิกหุ้นส่วนกันโจทก์มีสิทธิในเงินส่วนแบ่งเป็นเงินจำนวน100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 146,386.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของร้านขายผ้าไหม โจทก์เป็นลูกค้า ไม่ใช่หุ้นส่วนของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าหลังจากโจทก์ลงทุนเข้าเป็นหุ้นส่วนในระยะแรกแล้ว ต่อมาในเดือนเมษายน 2530 โจทก์ถอนเงินลงทุน 25,000 บาท และโจทก์ตอบคำถามค้านว่า ในเดือนพฤษภาคม 2530 โจทก์ถอนเงินลงทุนอีก 25,000 บาทเมื่อแรกเปิดร้านเดือนแรกมีกำไรสุทธิประมาณ 30,000 บาท กิจการดำเนินมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2530 หุ้นส่วนมีกำไร 290,000 บาทเศษและมีทรัพย์สินร่วมกัน 480,000 บาทเศษ การแบ่งผลกำไรสำหรับเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ได้รับส่วนแบ่งประมาณ 4,000 บาท เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2530 โจทก์ได้รับส่วนแบ่งประมาณเดือนละ 4,000 บาทเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2530 เดือนละ 3,000 บาท รายได้ปรากฏตามภาพถ่ายบัญชีรับ-จ่ายเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยเป็นคนบอกให้โจทก์ทำจำเลยเบิกความว่า ที่ร้านมีรายได้เป็นยอดขายเดือนละประมาณ100,000 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภาพถ่ายบัญชีรับ-จ่ายตามเอกสารหมาย จ.2 ถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นว่า ในการทำกิจการค้าขายผ้าไหมจำเลยเบิกความว่า เป็นผู้ชักจูงให้โจทก์มาร่วมงาน ซึ่งโจทก์เบิกความว่า ได้ตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้บริหารงาน ส่วนโจทก์เป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ จำเลยเบิกความว่าได้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท และแบ่งผลกำไรอีกร้อยละ 10 ทุกเดือน แสดงว่าผลกำไรส่วนหนึ่งได้นำมาแบ่งปันกันในแต่ละเดือนเพื่อเป็นรายได้ของหุ้นส่วนแต่ละคน ส่วนผลกำไรที่เหลือจึงยังคงเป็นของหุ้นส่วนทั้งสองแต่ตามภาพถ่ายบัญชีรับ-จ่ายเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ถ่ายมาจากต้นฉบับซึ่งอยู่ที่จำเลย จำเลยรับว่าได้สั่งให้โจทก์ทำ จำเลยกลับเบิกความว่าไม่สามารถบอกได้ว่ามีสินค้าเหลืออยู่เท่าไร และเป็นหนี้ค่าสินค้าหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยน่าจะชี้แจงได้แสดงว่าทรัพย์สินของหุ้นส่วนยังคงมีอยู่และมีรายการรับจ่ายเงินตามภาพถ่ายบัญชีรับ-จ่ายเอกสารหมาย จ.2 การที่โจทก์ถอนตัวออกจากหุ้นส่วนและจำเลยยินยอมให้โจทก์ถอนตัวโดยคืนเงินลงทุนให้ครบถ้วนแล้วถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงเลิกหุ้นส่วนกัน ตั้งแต่วันสิ้นเดือนกรกฎาคม2530 แต่ยังไม่ได้ตกลงเรื่องแบ่งปันผลกำไรที่ยังเหลือและทรัพย์สินย่อมต้องจัดให้มีการชำระบัญชีกันก่อนจึงจะทราบว่าหุ้นส่วนมีทรัพย์สินอยู่เพียงใดที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินปันผลกำไร และส่วนแบ่งในทรัพย์สินของหุ้นส่วนโดยอาศัยหลักฐานตามภาพถ่ายบัญชีรับ-จ่ายเอกสารหมาย จ.2 ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นรายการที่ยังไม่ชัดแจ้งและจำเลยยังมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับทรัพย์สินของหุ้นส่วนอยู่ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องร้องขอให้ตั้งผู้ชำระบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย การที่ศาลไม่อาจวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ มิใช่เป็นเรื่องนอกประเด็นตามที่โจทก์ฎีกา เพราะเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share