คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3522/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทุกคนในคดีนี้ยกเว้นโจทก์ที่ 17 และที่ 47 เคยฟ้องจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ต่อศาลแรงงานกลางโดยมิได้ลงชื่อในคำฟ้องหรือแต่งตั้งบุคคลอื่นดำเนินคดีแทน ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะโจทก์ที่ลงชื่อในคำฟ้องและยกฟ้องโจทก์ที่มิได้ลงชื่อดังกล่าว โจทก์ที่ลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ดังนี้เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมิได้มีการกำหนดให้คำพิพากษาผูกพันนายจ้างและลูกจ้างอื่นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลแห่งคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมิได้ลงชื่อในคำฟ้องและมิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนด้วย และเมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทของโจทก์อื่นดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ในคดีนี้บางคนเคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง และได้ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลฎีการะหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อคดีก่อนยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลฎีกาแล้ว โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกไม่ได้ ฟ้องของโจทก์เฉพาะโจทก์ที่เคยฟ้องจำเลยมาดังกล่าวจึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ส่วนการถอนฟ้องของโจทก์ดังกล่าวอันจะทำให้มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง ฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่การถอนฟ้องได้ถึงที่สุดไปแล้วโดยไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสิบสี่ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ทำงานแทนและเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ และได้เลิกจ้างเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๘ ยกเว้นโจทก์ที่ ๓๗ และที่ ๔๓ ซึ่งเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๘ โดยจำเลยทั้งสองไม่จ่ายค่าชดเชยให้ การจ้างครั้งนี้มิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและมิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จ้างโจทก์ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของผู้รับสิทธิผลิตสุรารายเดิมโดยเป็นการจ้างชั่วคราวและมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงได้ทำหนังสือสัญญาจ้างกับโจทก์โดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาไว้วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๘ ส่วนโจทก์ที่ ๓๗ และที่ ๔๓ นั้น เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานชั่วคราวเป็นรายวันต่อไปเพียง๑๖ วัน เมื่อสิ้นสุดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ที่ ๓๗ และที่ ๔๓ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์ทั้งห้าสิบสี่เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลกรณีเดียวกันต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๙๒/๒๕๒๘ หมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ และโจทก์ในคดีนี้ส่วนใหญ่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๘๒/๒๕๒๘ และหมายเลขดำที่ ๗๑๑๖/๒๕๒๘ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องทั้งสองคดี จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านต่อศาลฎีกา คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ๑. ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนหรือไม่ ๒. โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ แล้วศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า โจทก์ทุกคนนอกจากโจทก์ที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ ของศาลแรงงานกลางต่างเป็นโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ๗๑๑๖/๒๕๒๘ และคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๘๒/๒๕๒๘ ศาลฎีกาในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ ของศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แม้โจทก์อื่นมิได้ลงชื่อในคำฟ้องคดีนั้นก็ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานอาจกำหนดให้ผูกพันนายจ้างและลูกจ้างอื่นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำและที่โจทก์ถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๘๒/๒๕๒๘ กับหมายเลขดำที่ ๗๑๑๖/๒๕๒๘ และคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ และเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๘๒/๒๕๒๘ หมายเลขแดงที่ ๑๘/๒๕๒๙ กับหมายเลขดำที่ ๗๑๑๖/๒๕๒๕ หมายเลขแดงที่ ๑๙/๒๕๒๙ ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งห้าสิบสี่นอกจากโจทก์ที่ ๑๗ และที่ ๔๗ ในคดีนี้ได้เคยฟ้องจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ ของศาลแรงงานกลาง โดยมิได้ลงชื่อในคำฟ้องหรือแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทน ศาลแรงงานกลางจึงพิจารณาคดีเฉพาะโจทก์ที่ได้ลงชื่อในคำฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่มิได้ลงชื่อในคำฟ้องและมิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนั้น คดีถึงที่สุด โจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องดังกล่าวได้ฟ้องจำเลยอีกตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๘/๒๕๒๙ โจทก์ที่ ๔๓ ในคดีนี้ได้ฟ้องจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๙/๒๕๒๙ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรวมพิจารณาในวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ทั้งสองสำนวนขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งห้าสิบสี่จึงฟ้องคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๓๗/๒๕๒๘ ของศาลแรงงานกลางโดยให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ยืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง โดยมิได้มีการกำหนดให้คำพิพากษาผูกพันนายจ้างและลูกจ้างอื่นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๓ ไว้แต่อย่างใด คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันเฉพาะคู่ความคือโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยทั้งสองในคดีนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันโจทก์อื่นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมิได้ลงชื่อในคำฟ้องและมิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนั้นด้วย และเมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทของโจทก์อื่นดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
สำหรับปัญหาว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๘ และ ๑๙/๒๕๒๙ ของศาลแรงงานกลางหรือไม่นั้น ได้ความว่า โจทก์อื่นในคดีนี้นอกจากโจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๕ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ที่ ๒๘ ที่ ๓๘ ที่ ๕๐ ที่ ๕๓ และที่ ๕๔ ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๘ และ ๑๙/๒๕๒๙ ของศาลแรงงานกลางเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้
(๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” เห็นได้ว่า ถ้าคดีก่อนยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลแล้ว โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกไม่ได้ คำว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาหมายความว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลใดก็ตามโจทก์ก็จะฟ้องใหม่ไม่ได้ เมื่อจำเลยยังอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา กรณีจึงเป็นเรื่องคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกัน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผลของการถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ หมายความว่า การถอนฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดไปแล้วโดยไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง มิใช่มีคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาดังเช่นปัญหาในคดีนี้ ฟ้องของโจทก์อื่นนอกจากโจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๕ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ที่ ๒๘ ที่ ๓๘ ที่ ๕๐ ที่ ๕๓ และที่ ๕๔ จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๕ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ที่ ๒๘ ที่ ๓๘ ที่ ๕๐ ที่ ๕๓ และที่ ๕๔ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ทั้งสิบนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share