คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 58 ทวิห้ามโอนภายใน 10 ปีนั้น เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่มอบสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.หรือตาม ป. ที่ดิน ดังนั้นโจทก์ไม่อาจโอนสิทธิครอบครองตามป.พ.พ. มาตรา 1377 หรือมาตรา 1378 ให้ผู้อื่นได้ การที่โจทก์ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ภายในกำหนดเวลาห้ามโอน แล้วต่อมาบิดาโจทก์ได้นำไปขายและมอบการครอบครองให้แก่จำเลยครอบครองทำกินโดยจะไปโอนให้จำเลยหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วนั้น จำเลยหาอาจยกสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4205 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่334 โจทก์มอบให้นายพัด ที่ดินดำ บิดาโจทก์ทำกินชั่วคราว ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์จะเข้าทำกินจึงทราบว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยออกจากที่ดินและใช้ค่าเสียหาย 8,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไป
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินตามฟ้องโจทก์มอบให้บิดาโจทก์ขายให้แก่จำเลยโดยทำสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จะโอนทะเบียนให้ภายหลัง จำเลยเข้าครอบครองตั้งแต่ทำสัญญาและโจทก์สละการครอบครองแล้ว ที่ดินตามฟ้องมิได้ห้ามโอนเด็ดขาด เมื่อพ้นกำหนดโจทก์มีหน้าที่โอนให้จำเลย โจทก์ไม่เสียหาย ค่าเสียหายตามฟ้องไม่แน่นอน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยโจทก์จำเลยไม่ได้โต้แย้งฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์เมื่อ พ.ศ.2519 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา58 ทวิ ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ และต่อมาบิดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทและมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ครอบครองทำกินตลอดมา คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า การที่โจทก์ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ และบิดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองให้กับจำเลยทั้งสี่โดยจะไปโอนให้จำเลยทั้งสี่หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วมีผลสมบูรณ์หรือไม่เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2521 มาตรา 5 วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ซึ่งได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้ และได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว” และวรรคหกบัญญัติว่า “ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า” ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายการบังคับคดี” ดังนั้นที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้รับมาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีนั้น จึงเป็นที่ดินที่รัฐยังไม่มอบสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์ซึ่งยึดถือที่ดินพิพาทที่มีเงื่อนไขดังกล่าว จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ไม่อาจโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377 หรือ 1378 ให้แก่ผู้อื่นได้ จำเลยจึงไม่อาจยกสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์…”
พิพากษายืน

Share