แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้อง ป. ส. และจำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมกันแต่ได้ตกลงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนกันก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2กับพวกเป็นบุคคลล้มละลายและการที่ ป. กับ ส. ขายที่ดินให้แก่ผู้ร้องก็เป็นการขายตามสัดส่วนของตนที่แบ่งแยกไว้แน่นอนแล้ว ผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ดินเป็นเนื้อที่ที่แน่นอนเช่นกัน หาใช่จำเลยที่ 2 ยังคงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยไม่สามารถระบุโดยชัดแจ้งว่าที่ดินส่วนใดของที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ ทั้งข้อตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นเป็นสัดส่วนย่อมผูกมัดเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่เมื่อที่ดินพิพาทมีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โดยผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเพียงยึดที่ดินได้เท่าที่จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทนั้น และระเบียบกระทรวงยุติธรรมวาด้วยการบังคับคดี ฯพ.ศ. 2522 ข้อ 32 กำหนดว่า การที่จะยึดทรัพย์ทั้งหมดกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของรวมกับบุคคลอื่นนั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่ปรากฎว่าส่วนใดเป็นของลูกนี้ แต่เมื่อผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนแน่นอนแล้ว แม้ยังมิได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีสิทธิขายทอดตลาดเฉพาะเพียงส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดด้วย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6776 ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 7 ไร่ และจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์คิดเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ทำการรังวัดและแบ่งแยกโฉนด แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขออนุญาตให้ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดเฉพาะส่วนของผู้ร้องออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดิน เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลง ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9776 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 มีด้านหน้าติดถนนกว้างเพียง 12 เมตร ลึก400 เมตร ทำประโยชน์ใด ๆ ไม่ได้ หากแยกขายเฉพาะส่วนจะได้ราคาต่ำ บันทึกข้อตกลงบรรยายส่วนเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1ไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 การยึดและการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงกระทำโดยอาศัยระเบียบของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานการบังคับคดี พ.ศ. 2522 จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9776 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จำนวน3 ไร่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่16 มกราคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขายเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้อายัดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9776เนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้องมีส่วน 7 ไร่ จำเลยที่ 2 มีส่วน 3 ไร่ และเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดทั้งแปลง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นนี้มีว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายที่ดินพิพาททั้งแปลงหรือไม่ แล้วฟังว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ร้อง นายปพน นางสายทอง และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีกรรมสิทธิ์รวมกันได้ตกลงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนกันก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นบุคคลล้มละลายและการที่นายปพนกับนางสายทองขายที่ดินให้ผู้ร้องเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2533 ก็เป็นการขายตามสัดส่วนของตนที่แบ่งแยกไว้แน่นอนนั้นแล้ว ผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 7 ไร่ เป็นที่แน่นอนเช่นกัน หาใช่จำเลยที่ 2 ยังคงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่จำตนวน 1,200 ส่วน ใน 4,000 ส่วน โดยไม่สามารถระบุโดยชัดแจ้งว่าที่ดินส่วนใดของที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ทั้งข้อตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22แต่เมื่อที่ดินพิพาทมีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โดยผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเพียงยึดที่ดินได้เท่าที่จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทนั้นทั้งระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 32 ได้กำหนดว่าการที่จะยึดทรัพย์ทั้งหมดกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของรวมกับบุคคลอื่นนั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่ปรากฎว่าส่วนใดเป็นลูกหนี้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนแน่นอนแล้ว แม้ยังมิได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีสิทธิ์ขายทอดตลาดเฉพาะเพียงส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว
พิพากษายืน