คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15107/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า “ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา” ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ 30,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 10,500 บาท และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน แต่ไม่เกิน 15 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท กับคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมา 3,487.50 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน อษ 2997 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 549,723.24 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละเดือน เดือนละ 15,270.09 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 3 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ มีข้อตกลงหากผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 9 งวดเศษ เป็นเงิน 141,475.94 บาท แล้วผิดนัดเกิน 3 งวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้นำชี้ให้โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อตามเงื่อนไขที่โจทก์เสนอแล้ว สัญญาค้ำประกันเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป 3 งวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ชำระภายในกำหนดให้ถือว่าหนังสือบอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 2 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดสัญญาเช่าซื้อถูกยกเลิกโดยข้อสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 2 ติดตามและส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 เห็นว่า ในทางนำสืบจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไปพบนายสมศักดิ์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์แล้วนายสมศักดิ์แจ้งว่าหากจำเลยที่ 2 สามารถไปนำชี้ให้โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ โจทก์ตกลงจะยกเลิกสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมีการตกลงจะไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เป็นการนำสืบนอกคำให้การนอกประเด็น แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ และไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียงค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า “ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา” ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข โดยเห็นสมควรกำหนดให้เดือนละ 3,500 บาท เท่ากับค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ รวม 9 เดือน เป็นเงิน 31,500 บาท ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเพิ่มอีก 31,500 บาท ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share