แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องของโจทก์ ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 158 (5) ว่า “การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด…” เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถาง และเข้ายึดถือหรือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ…โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้มีดพร้าเป็นอุปกรณ์ในการก่นสร้าง โค่นไม้จำนวนหลายต้น อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟในที่เกิดเหตุ ประกอบกับภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุลักษณะเป็นการแผ้วถางทำป่าให้เตียนเพื่อเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติชอบแล้ว
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และในขณะเดียวกันยังร่วมกันทำไม้โดยตัดไม้ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองทันทีที่ได้กระทำ แต่ลักษณะความผิดฐานร่วมกันทำไม้และยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นการกระทำคนละคราวโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกัน โดยหลังจากที่ตัดไม้แล้วจำเลยทั้งสองมีเจตนามีไม้ที่ตัดไว้ในครอบครองย่อมเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากการตัดไม้ แม้ว่าไม้ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันตัดและมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 138, 371, 91 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 11, 54, 69, 72 ตรี, 73, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ริบมีดพร้า 2 เล่ม ไม้ของกลาง และให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง และผู้แทนของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี 3 เดือน ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง และผู้แทนของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ริบมีดพร้า 2 เล่ม และไม้ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายณรงค์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับแจ้งจากราษฎรว่า มีกลุ่มบุคคลเข้าไปจุดไฟเผาป่า จึงพร้อมกับพวกเดินทางไปที่เกิดเหตุซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพนมและป่าพลูเถื่อน มีการแผ้วถางและเผาป่าเป็นเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ และจับกุมจำเลยทั้งสองได้ในที่เกิดเหตุ สำหรับข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร และข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ 2.ข. ว่า “จำเลยทั้งสองกับพวกได้บังอาจร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถางและเข้ายึดถือหรือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพนม ป่าพลูเถื่อน…โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้มีดพร้าเป็นอุปกรณ์ในการก่นสร้าง โค่นต้นไม้จำนวนหลายต้น อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ…” ข้อ 2.ค. ว่า “จำเลยทั้งสองกับพวกได้บังอาจบุกรุกเข้าไปทำไม้…ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และข้อ 2.ง. ว่า “จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่จำเลยทั้งสองได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.ค. โดยยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง…” โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจจุดไฟเผาป่าและจะรับฟังว่าการเผาป่ารวมอยู่ในความหมายของการก่นสร้าง แผ้วถาง เข้ายึดถือหรือครอบครองก็ไม่ได้ เพราะความหมายของคำเหล่านั้นรวมทั้งคำว่า “ทำไม้” ไม่ได้รวมถึงการเผาด้วย โจทก์เพิ่งบรรยายเพิ่มเติมคำว่า “เผาป่า” ตามอุทธรณ์ของโจทก์ ข้อ 2.1 หน้า 11 บรรทัดที่ 10 และ 15 ข้อ 2.2 หน้า 12 บรรทัดที่ 6 และ 8 และหน้า 13 บรรทัดที่ 3 และ 9 ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองเก็บเศษไม้โยนเข้ากองไฟอันเป็นการเผาเศษไม้หรือที่โจทก์อ้างว่าเป็นการเผาป่านั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือคำฟ้องจะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องของโจทก์ ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 158 (5) ว่า “การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด…” เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถาง และเข้ายึดถือหรือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ…โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้มีดพร้าเป็นอุปกรณ์ในการก่นสร้าง โค่นไม้จำนวนหลายต้น อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟในที่เกิดเหตุ ประกอบกับภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุลักษณะเป็นการแผ้วถางทำป่าให้เตียนเพื่อเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถางอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ จำเลยทั้งสอง ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดนั้น โจทก์มีนายณรงค์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสมนึก นายนิวัฒน์ และนายธีระพงษ์ ผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนเข้าไปจุดไฟเผาป่า จึงพร้อมกับพวกเดินทางไปที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟและจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ส่วนคนอื่นหลบหนีไป เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และก่อนจับกุมพยานโจทก์ดังกล่าวได้ซุ่มดูประมาณ 30 นาที แล้วเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองได้ในที่เกิดเหตุ พร้อมมีดพร้า 2 เล่ม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุแล้ว ลักษณะเป็นการแผ้วถางโค่นล้มต้นไม้ใหญ่แล้วเผาทำลายให้เตียน เพื่อยึดถือครอบครองทำประโยชน์ เนื่องจากที่เกิดเหตุติดกับสวนยางพาราของจำเลยที่ 1 ด้านทิศใต้ตามแผนที่สังเขปแสดงจุดที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 รับราชการครู วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เก็บฐานลูกเสือตามเส้นทางเดินป่าได้ชวนจำเลยที่ 2 ไปช่วยด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นควันไฟกลัวว่าไฟจะลุกลามเข้าไปในสวนยางพาราของจำเลยที่ 1 จึงไปดับไฟ โดยใช้มีดพร้าไปแหวกหญ้าและใบไม้แห้งเพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลามและถูกจับกุมในเวลาต่อมานั้น เห็นว่า พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความว่า พยานเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟ ซึ่งเป็นการเผาป่าไม่ใช่ไปดับไฟ ลักษณะกองไฟตามภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุอยู่บริเวณตรงกลางของที่เกิดเหตุ ซึ่งมีเนื้อที่ 18 ไร่เศษ และตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาข้อ 9.2 ระบุว่า พบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถางประมาณ 20 ถึง 25 ไร่ เป็นป่าไม้ใหญ่สลับกับไม้เล็กเป็นบางจุด มีร่องรอยไฟไหม้ต้นไม้เล็กๆ จนหมด คงเหลือต้นไม้ใหญ่เป็นต้นยาวฯ ไฟไหม้ไม่หมด บางต้นยังไม่ได้โค่น เว้นไว้เป็นต้นไม้ใช้สอยบ้าง ประกอบกับการเผาป่าที่เกิดเหตุต้องไม่เผาใกล้สวนยางพารา เพราะอาจทำให้ต้นยางพาราไม่ให้น้ำยางหรือตายได้ ฉะนั้น เมื่อเป็นการเผาป่าบริเวณตรงกลางที่เกิดเหตุ ไฟไหม้ต้นไม้เล็ก ๆ หมด คงเหลือไม้ใหญ่และไม่ได้เผาใกล้สวนยางพารา ไฟก็จะไม่ลุกลามเข้าไปในสวนยางพาราของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องไปดับไฟหรือเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองไม่สมเหตุผลและไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง และผู้แทนของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสาม ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า แม้ทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกตัดฟันต้นไม้ 125 ต้น ของกลางก็ตาม แต่โจทก์มีนายณรงค์ นายสมนึก นายนิวัฒน์ และนายธีระพงษ์ผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนเข้าไปจุดไฟเผาป่า จึงพร้อมกับพวกเดินทางไปที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟ พยานกับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ส่วนคนอื่นหลบหนีไป เมื่อพิจารณารูปแผนที่สังเขปแสดงจุดที่เกิดเหตุประกอบบันทึกการตรวจสอบกับภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุแล้ว ก็เห็นได้ว่า พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีสภาพป่าสมบูรณ์ โดยด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกจดป่าทึบสมบูรณ์ ด้านทิศตะวันตกจดป่า สภาพเคยถูกแผ้วถางแต่มีต้นไม้ขนาดเล็ก กล้วยป่าและพืชชั้นล่างขึ้นเต็มพื้นที่ และด้านทิศใต้จดสวนยางพาราของจำเลยที่ 1 มีการตัดต้นไม้ของกลางและเผาเพื่อให้มีสภาพโล่งเตียนเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ที่เข้าแผ้วถางตัดต้นไม้ของกลางและเผาเพื่อยึดถือครอบครองโดยมีจุดประสงค์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การที่พยานโจทก์เห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้มีดพร้าตัดฟันกิ่งไม้จากต้นไม้ของกลางโยนเข้ากองไฟซึ่งเป็นการตัด ลิดกิ่งไม้ดังกล่าวนั้น เห็นได้ว่า เป็นการกระทำต่อเนื่องกับการแผ้วถางตัดฟันต้นไม้ของกลางในที่เกิดเหตุภายหลังจากที่เข้ายึดถือครอบครองเพื่อการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุนั่นเอง ประกอบกับข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยรับฟังได้แล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางป่าที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองกับพวกที่แผ้วถางป่าที่เกิดเหตุเพื่อการยึดถือครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยที่ต้นไม้ในบริเวณที่ดินดังกล่าวถูกตัดโค่น บ่งชี้ให้เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองรู้เห็นโดยร่วมเป็นตัวการในการตัดไม้และยึดถือครอบครองไม้ของกลางในที่เกิดเหตุ หากจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนายึดถือครอบครอง แผ้วถาง ทำประโยชน์ในป่าที่เกิดเหตุ และร่วมกันตัดไม้และมีไม้ของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครองแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยทั้งสองกับพวกต้องเข้าไปตัด ลิดกิ่งไม้จากต้นไม้ของกลางในที่เกิดเหตุโยนเข้ากองไฟเช่นนั้น ทั้งพวกของจำเลยทั้งสองก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องหลบหนีเมื่อพบเห็นพยานโจทก์ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ดังวินิจฉัยมาพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้และร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้และร่วมกันมีไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปโดยจำเลยทั้งสองเพียงแต่ตัด ลิดกิ่งไม้ของต้นไม้ของกลาง และลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน นั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวเพื่อขอให้ลงโทษหนักขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขโดยลงโทษจำเลยทั้งสองเกินไปกว่านั้นได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ปัญหาข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และในขณะเดียวกันยังร่วมกันทำไม้โดยตัดไม้ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองทันทีที่ได้กระทำ แต่ลักษณะความผิดฐานร่วมกันทำไม้และยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นการกระทำคนละคราวโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกัน โดยหลังจากที่ตัดไม้แล้วจำเลยทั้งสองมีเจตนามีไม้ที่ตัดไว้ในครอบครองย่อมเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากการตัดไม้ แม้ว่าไม้ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันตัดและมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง ทำลายต้นไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพนมและป่าพลูเถื่อน โดยก่นสร้าง โค่นต้นไม้จำนวนหลายต้นและเผาป่าไม้ ถือได้ว่าเป็นการทำลายป่าที่รัฐกำหนดให้เป็นเขตซึ่งสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง ทั้งที่ดินที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครองตามฟ้องมีเนื้อที่ 18 ไร่เศษ พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองนับเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองและไม่รอการลงโทษจำคุกเหมาะสมแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 รับราชการครูกับมีโรคประจำตัวก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อกำหนดโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง แผ้วถาง ทำประโยชน์ อันเป็นการทำลายป่าและเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8