แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนฟ้องโจทก์ส่งหนังสือทวงถามจำเลย เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์แจ้งว่าเลิกกิจการแล้ว โจทก์จึงประกาศทวงหนี้ทางหนังสือพิมพ์จำเลยก็ไม่ติดต่อมายังโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยได้ไปเสียจากเคหสถานที่อยู่อาศัยและปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ เมื่อโจทก์ให้พนักงานของโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากเงินฝากกับธนาคารโจทก์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้นำมาหักลดยอดหนี้แล้ว กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(4)ข. เฉพาะยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่ชัดเจนระหว่างวันที่ 27กันยายน 2525 ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 หักทอนแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 55,709.50 บาท หากคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราต่ำที่สุดที่โจทก์ขอมาคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 ปี เป็นเงิน 130,917.33 บาท เมื่อนำเงินฝากของจำเลยจำนวน 56,337.59 บาท มาหักชำระหนี้แล้ว จำเลยก็ยังคงเป็นหนี้โจทก์อีก 74,579.73 บาท เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ส่วนจำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระเพียงใดเป็นขั้นตอนที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์โดยตกลงว่า กรณีที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คหากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายและโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินให้ไป จำเลยยอมจ่ายเงินส่วนที่เกินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนในอัตราขั้นสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดคืนให้โจทก์ โดยถือเสมือนว่าจำเลยตกลงเบิกเงินเกินบัญชีหลังจากทำสัญญากันแล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีตลอดมาจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 จำเลยถอนเงินฝากที่มีอยู่นำเข้าบัญชีเป็นเงิน 24,947.50 บาท เมื่อหักทอนกันแล้วในวันดังกล่าวจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 181,944.80 บาท หลังจากนั้นจำเลยขาดการติดต่อกับโจทก์ เมื่อคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 7 เมษายน 2535 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 487,274.24 บาท บัดนี้จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนั้นจำเลยยังได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่และปิดสถานที่ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นเหตุให้สันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของนายเทอด วีระศุกลรัตน์กับนายวิชัย วิมลธนบูลย์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงภาพยนต์นครชัย นายเทอด เป็นผู้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์แต่ให้จำเลยลงชื่อในคำขอเปิดบัญชีและให้จำเลยลงชื่อในเช็คทั้งเล่มแล้วมอบให้นายเสถียร มลธุรัช ซึ่งมีหน้าที่รับจ่ายเงินของโรงภาพยนตร์ เช็คที่สั่งจ่ายเงินจากบัญชีไม่ใช่เช็คของจำเลยจำเลยไม่ได้เป็นผู้กรอกข้อความในเช็ค และไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยออกจากตำแหน่งผู้จัดการโรงภาพยนตร์นครชัยมากว่า 10 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันไม่เป็นบัญชีเดินสะพัด หรือการค้าขายอย่างอื่นทำนอง>เดียวกันโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ การคิดคำนวณยอดหนี้ตามฟ้องไม่ชอบ พิพากษายกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะคิดคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้อง และนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ให้ทนายความทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปตามที่อยู่ซึ่งจำเลยให้ไว้กับโจทก์แต่ส่งไม่ได้โดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์แจ้งว่าเลิกกิจการแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 โจทก์จึงประกาศทางหนังสือพิมพ์ให้จำเลยชำระหนี้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.15 แต่จำเลยไม่ได้ติดต่อกลับไปยังโจทก์ โจทก์ได้ให้พนักงานของโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ปรากฏว่ามีเพียงเงินฝากประจำกับธนาคารโจทก์จำนวน 50,000 บาท เท่านั้น ทรัพย์สินอื่นไม่มี ซึ่งโจทก์ได้นำเงินฝากดังกล่าวหักชำระหนี้และแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 จำเลยไม่ได้นำสืบพยานให้เห็นเป็นประการอื่น จึงรับฟังตามพยานโจทก์ว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ นอกจากเงินฝากประจำจำนวน 50,000 บาทซึ่งโจทก์ได้นำไปหักลดหนี้แล้ว และฟังต่อไปว่าจำเลยได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ และปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4)ข.
คดีมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือไม่ในข้อนี้โจทก์ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาพิเคราะห์เฉพาะยอดหนี้ที่ชัดเจนโดยไม่คำนึงถึงดอกเบี้ยซึ่งยังโต้แย้งการคำคำนวณกันอยู่ คือพิจารณาเฉพาะตั้งแต่วันที่ 27กันยายน 2525 เป็นต้นไปปรากฏว่าจำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันโดยเช็ครวม 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 103,866 บาทและจำเลยนำเงินเข้าฝากลดยอดหนี้สองครั้งจำนวน 23,209 บาทและ 24,947.50 บาท เมื่อหักกับจำนวนที่ถอนไปดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินที่ถอนไปในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ 55,709.50 บาท ยอดหนี้ดังกล่าวหากคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราต่ำที่สุดที่โจทก์ขอมาคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 ถึงวันฟ้อง (24 มิถุนายน 2535) โดยคิดเพียง 9 ปี เป็นเงิน 75,207.82 บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงินทั้งสิ้น 130,917.32 บาท เมื่อนำเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวน 56,337.59 บาท มาหักชำระหนี้ จำเลยก็ยังคงเป็นหนี้โจทก์อีก 74,579.73 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ส่วนจำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระเพียงใดเป็นขั้นตอนที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14