คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3514/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน ค้ำประกันและจำนอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การต่อสู้คดีจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายพรเทพแซ่โค้ว นายสมศักดิ์ ประภาสพงษ์ นายชัยวงศ์ จันทร์รุจิพัฒน์ และนายสุทธิ ตันติพิสิฐกุลเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง แต่ให้รับเป็นคำโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับเป็นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์อีกครั้งฉบับวันที่ 25 มกราคม 2544 และขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ขอให้เรียกนายพรเทพ แซ่โค้ว นายสมศักดิ์ ประภาสพงษ์นายชัยวงศ์ จันทร์รุจิพัฒน์ และนายสุทธิ ตันติพิสิฐกุล เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เช่นกัน ย่อมมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์นี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share