แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องฉบับหลังโดยมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรกว่า การที่โจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความและสมควรยกเลิกการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับแรกของจำเลย และเป็นที่สุดแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับหลังอีกจึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้กับให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน คู่ความประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะผ่อนชำระให้โจทก์ หากผิดนัดให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ ๓ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผิดสัญญา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แต่ไม่พอชำระหนี้ จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยังมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขอให้ยกเลิกการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีทรัพย์สินอื่นตามที่จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้าง ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ ขอเลื่อนการไต่สวนรวม ๗ ครั้ง ครั้นถึงวันนัดไต่สวนครั้งที่แปดฝ่ายจำเลยที่ ๓ ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ ไม่มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวน ให้ยกคำร้องที่ขอให้ไต่สวนเสีย
ต่อมาจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าจ้างของจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยที่ ๓ ทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกันความว่า การที่โจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ เป็นการไม่ชอบด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความ และสมควรจะยกเลิกการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับแรกของจำเลยที่ ๓ เพราะไม่มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวน แล้วไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ข้อที่จำเลยที่ ๓ อ้างและมีคำขอต่อศาลจึงรับฟังไม่ได้ และเป็นที่สุด การที่จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องฉบับหลังอีก โดยมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรกจึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔
พิพากษายืน