แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข. เป็นภริยาของ ส. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส. มิได้คัดค้าน เนื่องจากก่อนที่ ส. ถึงแก่ความตาย ส. ได้แบ่งทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว ทั้งปรากฏว่าก่อนมีการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19475 ให้แก่จำเลยที่ 2 และโอนโฉนดเลขที่ 13685 ให้แก่ ข. และต่อมา ข. โอนขายแก่จำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส. และทายาทอื่นของ ส. ทราบแล้ว โดยไม่มีทายาทคนใดโต้แย้ง เมื่อโจทก์ทั้งสี่รู้เห็นยินยอมในการทำนิติกรรมจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันในการที่จำเลยที่ 1 กระทำนิติกรรมดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ใช้เงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยที่ ๒ ส่งมอบโฉดนเลขที่ ๑๙๔๗๕ ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายระหว่างจำเลยที่ ๑กับจำเลยที่ ๒ และให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของนายสีให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ ๓ ส่งมอบโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ให้แก่โจทก์ทั้งสี่และเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางเขียว และระหว่างนางเขียวกับจำเลยที่ ๓ และให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ เฉพาะส่วนของนางสีให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ และ ๑๙๔๗๕ ตามฟ้องให้นางเขียว เกตระหรือเกตะระ และจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตตามที่นางเขียว โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ และบุตรของนายสี เกตระหรือเกตะระ ทุกคนตกลงกัน โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และนายแก่น เกษตะระเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายสีไม่ได้รับรองว่าเป็นบุตรและไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ที่ ๔ ไม่ใช่ภริยาของนายแก่น หลังจากโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วนางเขียว จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๔๗๕ ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๒๗ ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ที่ได้จดทะเบียนในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกเฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เนื้อที่๖ ไร่ ๒ งาน ๖๗ ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางเขียว เกตะระ ที่ได้จดทะเบียนในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายระหว่างนางเขียว เกตะระกับจำเลยที่ ๓ ที่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๐ และให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนมรดกเฉพาะส่วนของนายสี เกตะระ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วนโดยปลอดจากภาระติดพัน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสีเกตระหรือเกตะระ และนางเขียว เกตะระ เป็นสามีภริยากัน ส่วนโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓และนายแก่น เกษตะระ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วเป็นบุตรของนายสีอันเกิดจากนางจักภริยาของนายแก่น นายสีและนางจักยังมีบุตรอีกคนคือนางจันดี น้อยเจริญ นายสีถึงแก่ความตายเมื่อปี ๒๕๒๔ ก่อนถึงแก่ความตายนายสีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ และ ๑๙๔๗๕ ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕ โดยถือกรรมสิทธิ์ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายสีตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๐/๒๕๒๗ ของศาลชั้นต้น วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ส่วนที่เป็นมรดกของนายสีให้นางเขียว และโอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๙๔๗๕ ส่วนที่เป็นมรดกของนายสีให้จำเลยที่ ๒ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๒ โอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ส่วนที่เป็นของจำเลยที่ ๒ ให้นางเขียว ต่อมานางเขียวได้ขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่๑๓๖๘๕ ให้จำเลยที่ ๓ บุตรจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๐
ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า การโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๔๗๕ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางเขียว และระหว่างนางเขียวกับจำเลยที่ ๓ ตามฟ้องเป็นโมฆะเพราะการแสดงเจตนาลวงหรือฉ้อฉลหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ได้ที่ดินพิพาทมาด้วยการแลกเปลี่ยนที่ดินในส่วนของจำเลยที่ ๒ เอง มิใช่จากการรับโอนมรดก และมิได้ทำให้กองมรดกของนายสีเสียหาย หรือเสียเปรียบจำเลยที่ ๒แต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ ให้นางเขียวเฉพาะส่วนของนายสีนั้นชอบแล้ว และถือว่าจำเลยขที่ ๑ ได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ทายาทของนายสีแล้ว นายสีถึงแก่ความตายเมื่อปี ๒๕๒๔ แต่นางเขียวยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อปี ๒๕๒๗ ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง ๓ ปี จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนางเขียวไม่ได้กระทำรวบรัดหรือปกปิดในทันทีทันใดที่นายสีถึงแก่ความตาย ทั้งยังปรากฏว่า ก่อนมีการโอนที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งให้โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๓ นายแก่นและบุตรอีกคนของนายสีทราบ และทายาทนายสีก็ตกลงไม่รับเอามรดกที่ดินพิพาทสองแปลงนี้แล้วเพราะทายาทของนายสีได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายสีแล้ว ตามคำเบิกความของโจทก์ทั้งสี่ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ทำนองเดียวกันว่า นายสีมีทรัพย์มรดกคือที่ดินใช้ปลูกบ้านและที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ และ ๑๙๔๗๕ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และนายแก่นได้รับโอนที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว ฉะนั้นการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๖๘๕ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางเขียวเป็นการโอนโดยสุจริตตามข้อตกลงและเจตนาของทายาทนายสี แล้วนั้น เห็นว่า ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๔ ว่า ขณะที่นายสียังมีชีวิตอยู่บุตรทั้ง ๕ คน ได้แต่งงานและแยกครอบครัวออกไป โดยโจทก์ที่ ๑ ไปทำนากับสามี โจทก์ที่ ๒ ไปทำนากับภริยา โจทก์ที่ ๓ แยกไปค้าขายที่ประเทศลาวโจทก์ที่ ๔ และนายแก่นประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนนางจันดีก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและโจทก์ที่ ๒ เบิกความว่า พี่น้องของโจทก์ที่ ๒ อยู่ในจังหวัดหนองคายตลอดมาและสามารถติดต่อกันได้เรื่อยมา ข้อเท็จจริงรับกันอีกว่า ก่อนถึงแก่ความตาย นอกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นที่ดินนาแล้ว นายสียังมีที่ดินอีกแปลงเป็นที่ดินสำหรับปลูกบ้านซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ดินพิพาทและนายสียังได้ซื้อที่ดินอีกแปลงติดที่ดินพิพาทแล้วยกให้แก่นางจันดีน้อยเจริญ สำหรับที่ดินใช้ปลูกบ้านนายสีได้แบ่งให้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกับนายแก่นและนางเขียว การแบ่งที่ดินสำหรับปลูกบ้านให้แก่บุตรทั้งสี่นี้ นายสีแบ่งให้ก่อนหรือหลังตายนั้น โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เบิกความว่า แบ่งมรดกกันหลังตาย ส่วนโจทก์ที่ ๓เบิกความว่า ยกให้ก่อนตาย สำหรับโจทก์ที่ ๔ เบิกความสับสนไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องนี้ศาลฎีกาเชื่อว่า การแบ่งยกที่ดินสำหรับปลูกบ้านให้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และนายแก่นและการยกที่ดินแปลงอื่นให้นางจันดีนายสีคงยกให้ก่อนตายไม่นานด้วยความตกลงยินยอมของนางเขียวผู้ภริยาโดยบุตรซึ่งเป็นทายาทของนายสีทราบดี จึงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๔ ว่า ปัจจุบันนี้โจทก์ที่ ๑ พักอาศัยอยู่ที่บ้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาท ส่วนโจทก์ที่ ๓ พักอาศัยอยู่ที่บ้านซึ่งได้รับมรดกมาจากนายสี บ้านของจำเลยทั้งสามอยู่ใกล้กับบ้านของบุตรนายสี ไปมาหากันได้สะดวก โจทก์ที่ ๑ เบิกความว่า ที่ดินที่นางคำกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อยู่ เป็นที่ดินมรดกของนายสีซึ่งเป็นที่บ้าน และโจทก์ที่ ๓ เบิกความว่าบ้านนางเขียวกับจำเลยที่ ๒ อยู่ติดกัน โดยปลูกบ้านอยู่ในรั้วเดียวกัน โจทก์ที่ ๓ กับพี่น้องมีบ้านอยู่ติดกับบ้านนางเขียวและไม่เคยมีสาเหตุทะเลาะกับนางเขียว ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ที่เบิกความว่า โจทก์ทั้งสี่ ทราบเรื่องนางเขียวร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดก แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้คัดค้านเนื่องจากก่อนที่นายสีถึงแก่ความตาย นายสีได้แบ่งทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โดยโจทก์ทั้งสี่ได้รับที่ดินซึ่งปลูกบ้าน ส่วนนางจันดีนั้นนายสีได้นำเงินที่นายสีและนางเขียวทำมาหาได้ร่วมกันซื้อที่ดินมอบให้นางจันดี สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงใน ส่วนที่นายสีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นตกลงยกให้นางเขียวนี่เอง จึงเป็นที่มาที่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ เบิกความสอดคล้องกันว่า หลังจากจัดงานศพของนางสีแล้ว ไม่มีทายาทผู้ใดพูดถึงที่ดินพิพาทหรือพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดก และโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔เบิกความรับว่าเมื่อนายสีตาย โฉนดได้ตกไปอยู่ในความครอบครองของนางเขียวสำหรับสาเหตุที่หลังนายสีตายไปแล้ว ๓ ปี นางเขียวจึงมาร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้นปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ คดีนี้ ซึ่งเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๔๐/๒๕๒๗ ของศาลชั้นต้นว่า นายสีเป็นเจ้าของที่ดินนาสองแปลงร่วมกับจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๒ ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถทำให้ได้เพราะนายสีตาย จึงจำเป็นต้องมีผู้จัดการมรดก และนางเขียวประสงค์จะตั้งจำเลยที่ ๑คดีนี้ซึ่งเป็นกำนันท้องที่ให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ โดยไม่มีทายาทคนใดคัดค้านนอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ ว่าครอบครัวโจทก์ที่ ๑และครอบครัวจำเลยที่ ๑ รู้จักมักคุ้นกัน โจทก์ที่ ๓ เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๓ และบุตรของนายสีทุกคนรู้จักกันดีโดยบ้านของโจทก์ที่ ๓ อยู่ห่างบ้านจำเลยที่ ๑ ประมาณครึ่งกิโลเมตรและโจทก์ที่ ๔ เบิกความว่า บ้านของจำเลยทั้งสามอยู่ใกล้กับบ้านของบุตรนายสีไปมาหากันได้สะดวก บ้านของโจทก์ที่ ๔ อยู่ห่างบ้านของจำเลยที่ ๑ เพียง ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ เมตร ศาลฎีกาจึงเชื่อคำเบิกความของจำเลยที่ ๑ที่ว่าก่อนนางเขียวยื่นคำร้องขอให้ตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ ๑ เคยสอบถามบุตรของนายสีทุกคน ซึ่งทุกคนต่างก็ยินยอมให้นางเขียวดำเนินการได้ หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันไปโอนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๔ และจ.๕ จำเลยที่ ๑ เคยเรียกโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ และนางจันดีมาสอบถามเกี่ยวกับมรดกของนายสี คนทั้งสามบอกว่าไม่ต้องการที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕เนื่องจากที่ดินดังกล่าวไม่ค่อยมีค่าเท่าใด และคนทั้งสามได้ทรัพย์สินที่นายสีแบ่งให้ในขณะที่นายสีมีชีวิตมาก่อนแล้ว จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินมรดกทั้งสองแปลง เมื่อปี ๒๕๒๗หลังจากโอนแล้ว ไม่มีทายาทคนใดของนายสีมาโต้แย้งว่าจำเลยที่ ๑ ทำไม่ถูกต้องและศาลฎีกาเชื่อว่า เมื่อทายาทผู้เป็นบุตรและนางเขียวผู้ภริยาของนายสีตกลงกันได้ในเรื่องทรัพย์สมบัติของนายสีและนางเขียวแล้วโดยตกลงยินยอมกันให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในส่วนที่นายสีมีกรรมสิทธิ์รวมตกเป็นของนางเขียว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่หลังจากนายสีตายทายาทผู้เป็นบุตรไม่มีผู้ใดติดใจเรียกร้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาทไม่ติดใจและยินยอมให้นางเขียวดำเนินการขอตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายสี ทั้งไม่ติดใจและยินยอมในการที่จำเลยที่ ๑ จะทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของนายสีให้นางเขียวและในนามตนเองแล้วโอนอีกครั้งหนึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินส่วนของนางเขียวกับจำเลยที่ ๒ โดยจดทะเบียนเป็นการซื้อขายตามที่เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำ การทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางเขียวและกับจำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ทั้งสี่แต่อย่างใด ทั้งการที่โจทก์ทั้งสี่เบิกความยอมรับว่า หลังจากนายสีถึงแก่ความตายไม่นาน จำเลยที่ ๒ ได้เข้าไปขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ และล้อมรั้วไว้ ในปี ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๒ได้แบ่งขายที่ดินพิพาทอีกด้านหนึ่งเนื้อที่ ๕ ไร่เศษให้แก่นายประยูร โลหิต นายประยูรได้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ในที่ดินที่ซื้อ ส่วนที่ดินพิพาทอีกแปลงนางเขียวได้โอนให้จำเลยที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๓๐ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้แบ่งขายที่ดินพิพาทให้นายสุพัน ไชยเดชเป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ เมื่อปี ๒๕๓๖ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ทราบดีแต่ไม่เคยคัดค้านหรือขอส่วนแบ่งจากเงินที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขายที่ดินได้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสี่รู้เห็นยินยอมในการทำนิติกรรมจัดการมรดกของจำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องผูกพันในการที่จำเลยที่ ๑ กระทำดังกล่าว เมื่อต่อมาภายหลังที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้นโดยปรากฏจากคำให้การและการนำสืบของจำเลยว่าเพราะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวและปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ประกอบกันว่า โจทก์ทั้งสี่เพิ่งคุยกันเรื่องที่ดินมรดกก่อนฟ้องคดีนี้ไม่กี่เดือน เหตุที่ฟ้องเพราะทราบว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กำลังจะขายที่ดินมรดกซึ่งมีราคาสูง โดยโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการ และโจทก์ที่ ๔ ก็ต้องการส่วนแบ่ง เช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.