แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยจะอุทธรณ์ว่าโจทก์หมดสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 1374, 1375 และ 1382 ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะยกมาตรา 164 ขึ้นมาปรับแก่คดีได้ เพราะจำเลยได้บรรยายข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว การจะปรับบทกฎหมายมาตราใดเป็นหน้าที่ของศาล
ผู้ว่าราชการจังหวัดตัวแทนโจทก์สั่งให้จำเลยส่งมอบข้างของกลางให้แก่อำเภอเพื่อขาดทอดตลาดตามพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464 อายุความต้องเริ่มนับแต่ พ.ศ. 2494 อันเป็นวันที่สั่งให้จำเลยส่งมอบ เพราะตั้งแต่วันที่สั่งให้ส่งนั้น โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับจำเลยได้แล้ว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมกันส่งมอบช้างคืน มูลแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยคนอื่นยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ให้ถือว่าจำเลยทำแทนซึ่งกันและกัน จำเลยอื่นจึงได้รับผลแห่งอายุความด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายฟื้นซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้เข้าหุ้นทำสัญญาจับช้างป่าในท้องที่จังหวัดชุมพร โดยนายฟื้นได้ทำหนังสือสัญญาทัณฑ์บนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด(ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์เพื่อตั้งคอกจับช้างป่า ในนามของตนเองแทนจำเลยทั้งหมด ในหนังสือสัญญาข้อ ๗ มีความว่า ถ้าช้างที่จับได้เป็นช้างอุทาม (ช้างมีเจ้าของแต่ผลัดเข้าป่าไป) ก็ให้ประกาศหาเจ้าของ ไม่มีเจ้าของก็ให้ตกเป็นสิทธิแก่ผู้จับ เว้นแต่เป็นช้างที่ต้องห้ามตามสัญญาทัณฑ์บนข้อ ๕ คือ ช้างชรา ช้างมีท้องลูก ช้างมีลูกอ่อน และช้างมีขนาดต่ำกว่า ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร นายฟื้นกับพวกได้ตั้งคอกจับช้างป่าได้รวม ๒๒ เชือก เป็นช้างอุทามรวมอยู่ด้วย ๗ เชือก โดยเฉพาะช้างอุทามมีชื่อ พังว่าว เป็นช้างแม่ลูกอ่อน พลายสมควร พลายสมบุญ และพังพริก เป็นช้างเล็กสูงไม่เกิน ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรจึงมีคำสั่งให้ช้างทั้ง ๔ เชือกตกเป็นของหลวง ให้นายฟื้น และนายหลินจำเลยที่ ๑ ส่งมอบช้างให้แก่ทางราชการ แต่นายฟื้นถึงแก่กรรมเสียก่อนและจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมส่งมอบ อ้างว่าช้างที่ส่งมอบตกอยู่แก่หุ้นส่วนคนอื่น ๆ โจทก์เรียกร้องไปยังจำเลย จำเลยไม่ยอมคืน
ขอให้ศาลบังคับร่วมกันส่งช้างทั้งหมดคืนหากส่งไม่ได้ให้ร่วมกันใช้เงินแทนตามราคาช้าง ๕๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๔, ๑๐, ๑๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๕, ๖, ๗, ๘ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ เป็นเพียงลูกจ้างของนายฟื้นไม่ได้เป็นหุ้นส่วน จำเลยได้ช้างพังว่าวและพลายสมควรเป็นค่าจ้าง โจทก์ไม่มีอำนาฟ้อง จำเลยครอบครองช้างด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา ๑๓ ปีเศษ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุม
จำเลยนอกนั้นให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทุกคน (เว้นจำเลยที่ ๒,๑๒) ร่วมกันรับผิดคืนช้างพังว่าวและพลายสมควรให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคา ส่วนจำเลยที่ ๒,๑๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยทุกคนเว้นจำเลยที่ ๒,๑๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓, ๘, ๑๐ เสียด้วย ถ้าจำเลยที่ ๑, ๔, ๕, ๖, ๗, ๙ ไม่สามารถคืนช้างพังว่าว ช้างพลายสมควรแก่โจทก์ ก็ให้ใช้ราคาช้างพังว่าว ๑๒,๐๐๐ บาท ช้างพลายสมควร ๑๗,๐๐๐ บาท
จำเลยดังกล่าวฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ขาดอายุความแล้ว แม้ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจะอุทธรณ์ว่าโจทก์หมดสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๓๗๔, ๑๓๗๕, ๑๓๘๒ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าบทมาตราเหล่านั้นจะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะยกมาตรา ๑๖๔ ขึ้นมาปรับแก่คดีได้ เพราะจำเลยได้บรรยายข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ไว้โดยชัดแจงแล้ว การจะปรับบทกฎหมายมาตราใดเป็นหน้าที่ของศาล และคดีนี้จำเลยก็ยกต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ยกอายุความตามมาตรา ๑๖๔ ขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าอายุความในคดีนี้ต้องเริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ อันเป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรสั่งให้จำเลยส่งมอบช้างของกลางให้แก่อำเภอเพื่อขายทอดตลาด เพราะตั้งแต่วันที่สั่งให้จำเลยส่งมอบช้างนั้น โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับจำเลยได้แล้ว เมื่อนับอายุความตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึงวันฟ้องเกิน ๑๐ ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ แล้ว
ส่วนจำเลยที่ ๔ และ ๑๑ ที่ขาดนัดยื่นคำให้การจะได้รับผลในเรื่องอายุความด้วยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมกันส่งช้างคืน มูลแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยคนอื่นยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๙(๑) ให้ถือว่าจำเลยทำแทนซึ่งกันและกันจำเลยที่ ๔ ที่ ๑๑ จึงได้รับผลแห่งอายุความด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์.