แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) สภาพของนิติบุคคลจำพวกห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการจดทะเบียนและจำสิ้นสภาพก็ด้วยการจดทะเบียน และกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้จดทะเบียนเพื่อให้นิติบุคคลสิ้นสภาพไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในมาตรา 1254,1270
(2) การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีการชำระบัญชี
(3) ความในมาตรา 1061 นั้น ใช้บังคับได้เฉพาะห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้น จะใช้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้ เพราะมีหมวด 5 บัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว.
(ข้อ 2 ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2507).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ๑๐๘,๐๙๒.๗๗ บาท และไปแจ้งเท็จจดทะเบียนว่าได้ชำระหนี้หมดสิ้นแล้ว ขอให้ศาลสั่งว่า การจดทะเบียนไม่ชำระบัญชีของจำเลยไม่สมบูรณ์ และขอให้ตั้งหัวหน้ากองบังคับคดีล้มละลายเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ชัยจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเลิกห้างและได้ประกาศแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจเพิกถอนอำนาจของนายทะเบียน และร้องขอให้หัวหน้ากองบังคับคดีล้มละลายเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ชัยจำเลย
คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การเลิกห้างหุ้นส่วนจำเลยโดยมิได้มีการชำระบัญชีจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าวินิฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ จำเลยยอมรับว่าเป็นลูกหนี้โจทก์ตามฟ้อง ให้ตัดสินให้โจทก์ชนะคดี ถ้าวินิฉัยเป็นคุณแก่จำเลย ฝ่ายโจทก์ยอมแพ้
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยโดยมิได้มีการชำระบัญชีเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้วินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว จึงฟังต่อไปว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ดังฟ้อง สำหรับการที่ดจทก์ขอให้สั่งแสดงว่าการจดทะเบียนไม่ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยต่อนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมทะเบียนการค้า ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น การจดทะเบียนเป็นการกระทำระหว่างจำเลยและเจ้าพนักงาน ไม่มีผลถึงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายของจำเลยในการชำระบัญชีเมื่อเลิกกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องสั่งตามขอ และพิพากษาให้ชำระบัญชีโดยตั้งหัวหน้ากองบังคับคดีล้มละลายเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ชัยจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทางที่จะเลิกกันโดยไม่ชำระบัญชีโดยจัดการทรัพย์สินโดยวิธิอื่น อ้างฎีกาที่ ๔๙๓/๒๔๗๗
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า มาตรา ๑๒๕๐ ได้บัญญัติถึงหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีและมาตรา ๑๒๔๙ ได้บัญญัติว่า ห้างส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และความในมาตรา ๑๒๕๑ ที่ศาลอุทธรณ์อ้างนั้นอาจเป็นเพียงบทบัญญัติให้ผู้ใดเป็นผู้ชำระบัญชีเท่านั้น แต่จะแปลไปถึงว่า เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแล้วไม่ต้องมีการชำระบัญชีหาได้ไม่ เพราะความในมาตรา ๑๒๕๑ ที่ว่า “เว้นไว้แต่ข้อสัญญาของห้างหรือข้อบังคับของบริษัทจะมีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” นั้น ย่อมหมายถึงการกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเป็นอย่างอื่นเท่านั้น ไม่ได้หมายความเลยไปถึงว่าจะไม่ต้องมีการชำระบัญชีก็ได้ฉะนั้น จึงจำต้องพิเคราะห์ถึงหลักกฎหมายประกอบบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนี้มาวินิจฉัย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒(๓) บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้วย่อมเป็นนิติบุคคล” มาตรา ๖๙ ว่า “นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแพ่งกฎหมายภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของตนดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง” มาตรา ๑๐๑๕ ก็ได้บัญญัติอีกว่า “ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” เมื่อเป็นนิติบุคคลอีกคนหนึ่งดังนี้แล้ว การเกิดและการสิ้นสภาพบุคคลจึงย่อมจะต้องเป็นไปให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนี้ สำหรับนิติบุคคลจำพวกห้างหุ้นส่วนที่ได้จดทะเบียนแล้วนี้ ได้มีกฎหมายบัญญัติถึงการที่จะสิ้นสภาพไว้ในมาตรา ๑๒๕๓ ว่า “ภายใน ๑๕ วัน นับแต่ได้เลิกห้างเลิกบริษัทหรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีต้องกระทำดังกล่าวต่อไปนี้คือ.
“(๑)บอกกล่าวแก่ประชาชน ฯลฯ ว่าห้างหุ้นส่วนนั้น หรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้ว ฯลฯ
(๒)ส่งคำบอกกล่าว ฯลฯ ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คน ฯลฯ”
มาตรา ๑๒๕๔ ก็ได้บัญญัติต่อไปอีกว่า “การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่เลิกันและ ในการนี้ต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุก ๆ คน ให้จดทะเบียนไว้ด้วย”
มาตรา ๑๒๗๐ ว่า “เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลงผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชี ฯลฯ แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม
เมื่อที่ประชุมได้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้วดังนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี”
เมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนี้ประกอบกับมาตรา ๑๒๔๙ จะเห็นได้ชัดว่า สภาพของนิติบุคคลจำพวกห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้วนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการจดทะเบียน และจะสิ้นสภาพได้ก็ด้วยการจดทะเบียน และการจดทะเบียนเพื่อให้นิติบุคคลนี้สิ้นสภาพลงนั้นกฎหมายบังคับให้กระทำโดยผู้ชำระบัญชี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๕๔ และมาตรา ๑๒๗๐ ดังกล่าวมาแล้ว จึงเห็นได้ว่า ที่จดทะเบียนแล้วกฎหมายบังคับให้ต้องมีผู้ชำระบัญชี มิฉะนั้นก็ไม่มีทางที่สภาพของนิติบุคคลนั้นจะสิ้นสุดลงโดยทางทะเบียนได้ เมื่อต้องมีผู้ชำระบัญชีแล้ว การเลิกห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนก็ต้องมีการชำระบัญชีเพื่อทำหน้าที่ตามมาตรา ๑๒๕๐ และมาตรา ๑๒๕๓ และต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุกคนให้จดทะเบียนไว้ด้วยตามมาตรา ๑๒๕๔
ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดในคดีนี้จำต้องมีการชำระบัญชี ส่วนมาตรา ๑๐๖๑ นั้นนำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดหาได้ไม่ เพราะการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดได้มีบทบัญญัติเป็นพิเศษไว้ต่างหากในหมวด ๕ อันว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด มาตรา ๑๐๖๑ คงใช้ได้แต่เฉพาะสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๙๑/๒๔๗๗ ที่ศาลอุทธรณ์อ้างถึง ศาลฎีกาปัจจุบันไม่เห็นพ้องด้วย
พร้อมกันพิพากษากลับคกพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ.