แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม หุ้นที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกเป็นของทายาทในทันทีการโอนหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 มาตรา 1132 และข้อบังคับของบริษัทฯ มิได้ห้ามโอนไว้จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ตายและเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องโอนหุ้นให้โจทก์บิดาผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมตามส่วน จำเลยจะขอให้โจทก์รับหุ้นที่เป็นตัวเงินตามมูลค่าหุ้นหาได้ไม่ ส่วนการแบ่งทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินและบ้าน ชอบที่จะให้ทายาทประมูลกันเองก่อน ได้เงินสุทธิเท่าใดก็แบ่งให้โจทก์ตามส่วนหากไม่อาจประมูลกันได้ในระหว่างทายาทให้นำออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364,1745
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนายประวิทย์ ไพบูลย์เลิศ ผู้ตาย โดยโจทก์เป็นบิดาและจำเลยเป็นภริยาของนายประวิทย์ นายประวิทย์ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้มีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนายประวิทย์ผู้ตายมีทายาทรวม 5 คน คือ โจทก์ จำเลย และบุตรนายประวิทย์ที่เกิดแต่จำเลยอีก 3 คน เมื่อนายประวิทย์ถึงแก่กรรม มีทรัพย์มรดกคือ หุ้นของบริษัทเคมีคอลรีเสิร์ช จำกัด 4,995 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 499,500 บาท ที่ดินมีโฉนดเลขที่ 41957, 41958, 41959 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เนื้อที่รวม 201 ตารางวา ราคาตารางวาละ 4,000 บาทเป็นเงินค่าที่ดิน 804,000 บาท และบ้านเลขที่ 940/145 หมู่ที่ 12ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว 1 หลัง ราคา 1,200,000 บาท เมื่อแบ่งทรัพย์ดังกล่าวให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว ทรัพย์ที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกได้แก่โจทก์หนึ่งในห้าส่วน โจทก์ได้ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยไม่ยอมแบ่ง ขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการโอนหุ้น และจดทะเบียนบรรยายส่วนของโจทก์ในที่ดินและขายทอดตลาดบ้านแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นทายาทนายประวิทย์ผู้ตาย และจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลจริง นายประวิทย์ยังมีบุตรซึ่งเกิดกับจำเลยอีก 3 คน เป็นทายาทโดยธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนหุ้นของบริษัทเคมีคอลรีเสิร์ช จำกัดจำนวน 499 หุ้นให้โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้ส่วนมรดกในหุ้นดังกล่าวคิดตามมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้เป็นเงิน 49,900 บาท ที่ดินมีโฉนดทั้งสามแปลงมีราคาเพียงตารางวาละ 2,000 บาท ที่ดิน 20 ตารางวาจึงมีราคาเพียง 40,000 บาท บ้านที่ปลูกบนที่ดินปัจจุบันมีราคาเพียง 300,000 บาท เมื่อแบ่งเป็นของจำเลยกึ่งหนึ่งแล้วที่เหลือแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกทั้งสิ้นรวม 119,900 บาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยโอนหุ้นของบริษัทเคมีคอลรีเสิร์ช จำกัด ให้โจทก์ 499 หุ้น สำหรับที่ดินมีโฉนดสามแปลงและบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินให้ทายาทประมูลระหว่างกันเองก่อน ได้ราคาเพียงใดจึงแบ่งจำนวนเงินสุทธิให้โจทก์1 ใน 10 ส่วน หากไม่อาจประมูลในระหว่างทายาทได้ นำออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนายประวิทย์ ไพบูลย์เลิศผู้ตาย โดยโจทก์เป็นบิดาและจำเลยเป็นภริยาของผู้ตายและผู้ตายมีทายาทอื่นอีก 3 คน ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายกับจำเลย ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมและจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขณะผู้ตายถึงแก่ความตายมีสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยคือ หุ้นของบริษัทเคมีคอลรีเสิร์ช 4995 หุ้น ที่ดินมีโฉนด 3 โฉนด เนื้อที่201 ตารางวา และบ้านซึ่งปลูกในที่ดินแปลงดังกล่าว 1 หลัง โจทก์มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย 1 ใน 10 ส่วนของทรัพย์ดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งหุ้นเป็นตัวเงินตามมูลค่าของหุ้น เพราะการแบ่งใบหุ้นให้โจทก์เป็นการขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ส่วนมรดกที่เป็นที่ดินและบ้าน โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเป็นตัวเงินเช่นเดียวกัน เพราะการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ประมูลกันเองระหว่างทายาทจะทำให้จำเลยเสียเปรียบและเสียหาย เนื่องจากโจทก์มีฐานะร่ำรวยและฐานะดีกว่าจำเลยมากเห็นว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หุ้น ที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นมรดกของผู้ตายก็ตกทอดเป็นของทายาทผู้ตายคือ โจทก์จำเลยและบุตรผู้ตายอีก 3 คน ตามส่วนที่แต่ละคนได้รับมรดกทันที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ส่วนการโอนหุ้นนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคแรกบัญญัติว่า “อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัทเว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” และมาตรา 1132บัญญัติว่า “ในเหตุบางอย่างเช่น ผู้ถือหุ้นตายก็ดี หรือล้มละลายก็ดี อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้นหากว่าบุคคลนั้นนำใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทำได้ทั้งนำหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป” ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ห้ามโอนหุ้นโจทก์จำเลยและทายาทอื่นมีสิทธิได้ส่วนมรดกในหุ้นเพราะผู้ถือหุ้นเดิมตายข้อบังคับของบริษัทเคมีคอลรีเสิร์ช จำกัด ข้อ 11 และข้อ 12 ตามภาพถ่ายข้อบังคับของบริษัทคอลรีเสิร์ช จำกัดเอกสารหมาย จ.1 ก็มิได้ห้ามโอนหุ้นของบริษัทโดยทางมรดก เพียงแต่ต้องนำหลักฐานและใบหุ้นมาแสดงจนเป็นที่พอใจของคณะกรรมการบริษัทจึงจะรับจดทะเบียนบุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้น จำเลยจะขอให้โจทก์รับหุ้นเป็นตัวเงินตามมูลค่าหุ้นหาได้ไม่ จำเลยต้องโอนหุ้นให้แก่โจทก์ จำนวน 499 หุ้น สำหรับที่ดินและบ้านโจทก์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นร่วมกันกับจำเลยและทายาทอื่น ถือว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีส่วน 1 ใน 10 เท่ากับทายาทอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ให้แบ่งที่ดินและบ้านโดยให้ทายาทประมูลระหว่างกันเองก่อน ได้ราคาเพียงใดจึงแบ่งจำนวนเงินสุทธิให้โจทก์ 1 ใน 10 ส่วน หากไม่อาจประมูลในระหว่างทายาทได้ ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าวเป็นการแบ่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364, 1345 แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน