คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว หาได้มีบทบัญญัติเรื่องเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถทำให้อายุความสะดุดหยุดลง อันเป็นเหตุให้อายุความยังไม่ครบบริบูรณ์ดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 187 ไม่ จึงจะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาไม่ได้ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเกินกว่า3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 25,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และยกคำขอในส่วนให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ในข้อหาฐานฉ้อโกงขาดอายุความหรือไม่ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายฉลอง เงินมากผู้เสียหายทราบเรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดเมื่อประมาณวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2532 เห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์เสียภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้เสียหายไม่อาจร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้เพราะผู้เสียหายถูกจำคุกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 4 เดือน เป็นภาวะสุดวิสัยที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ได้ทันตามกำหนด แต่ทันใดที่ผู้เสียหายกลับถึงบ้านก็รีบร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันที คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เกี่ยวกับความผิดอาญาประมวลกฎหมายอาญาภาค 1 ลักษณะ 1 หมวด 9 บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว โดยหาได้มีบทบัญญัติเรื่องเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเป็นเหตุให้อายุความยังไม่ครบบริบูรณ์ดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 187 ด้วยไม่ ดังนั้น จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาด้วยไม่ได้ คดีนี้ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดเมื่อประมาณวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 10 เมษายน2532 ซึ่งเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share