คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างจำเป็นต้องหยุดงานเพราะขาดวัตถุดิบป้อนโรงงาน จึงตกลงกับลูกจ้างว่า ในระหว่างหยุดงานจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างต่ำกว่าค่าจ้างที่ลูกจ้างเคยได้รับและต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ดังนี้ ลูกจ้างจะเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามที่เคยได้รับหรือตามค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 64 บาทจำเลยปิดงานโดยโจทก์ไม่มีความผิดรวม 48 วันแล้วจึงเรียกโจทก์กลับเข้าทำงานระหว่างปิดงานจำเลยไม่ได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเงิน 3,072 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยหยุดงานเป็นเพราะบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยเลิกจ้างจำเลย และระงับการส่งวัตถุดิบในการผลิตอาหารกระป๋องแก่จำเลยอย่างกะทันหัน จำเลยจึงไม่สามารถผลิตอาหารกระป๋องได้ จำเลยได้ชี้แจงถึงเหตุขัดข้องให้โจทก์ทราบแล้ว ระหว่างหยุดงานจำเลยได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน 400 บาท ซึ่งโจทก์ก็เข้าใจเหตุผลและพอใจจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การหยุดงานของจำเลยเป็นเพราะไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ 400 บาท ในระหว่างหยุดงาน และวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยเช่นนั้นแล้ว ข้อตกลงย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในช่วงที่จำเลยปิดงานนอกเหนือจากค่าจ้าง 400 บาท พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า หลังจากจำเลยหยุดงาน โจทก์ยอมตกลงรับค่าจ้างระหว่างหยุดเพียง 400 บาทเท่านั้น จึงจะนำเอาค่าจ้างอัตราเดิมตามสัญญาจ้างแรงงานหรือนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาบังคับให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์มิได้

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองคนงานไร้ฝีมือให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามควรแก่อัตภาพในกรณีที่กิจการของนายจ้างดำเนินไปตามปกติ และลูกจ้างทำงานให้นายจ้างตามปกติคดีนี้กิจการของจำเลยหยุดชั่วคราวเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการไปตามปกติ หากโจทก์จะให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเต็มอัตราที่ตกลงกันไว้ก็อาจจะทำให้กิจการของจำเลยต้องซวดเซลงไปอีกจนถึงจำเลยอาจต้องเลิกกิจการ ผลร้ายก็จะเกิดแก่โจทก์ไปในตัวที่ไม่มีงานทำ การที่โจทก์ผ่อนปรนแก่จำเลยยอมรับค่าจ้างแต่บางส่วนเพื่อให้กิจการของจำเลยกลับฟื้นคืนตัว อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้หาขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และทำให้ข้อตกลงเรื่องค่าจ้างนั้นตกเป็นโมฆะไม่

พิพากษายืน

Share