แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กองทุนรวมทั้งสี่กองทุนจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและแยกต่างหากจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนรวม ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 124 วรรคสอง ผลประโยชน์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมแต่ละกองทุนไปลงทุน ย่อมตกแก่กองทุนรวมแต่ละกองทุนตามส่วนของเงินที่นำไปลงทุน การที่จำเลยเสนอขายหุ้นกู้แก่โจทก์ในคราวเดียวกัน แต่โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ที่นำทรัพย์สินของกองทุนรวมทั้งสี่กองทุนไปลงทุนโดยโจทก์ได้รับค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นผลตอบแทนเท่านั้น มิใช่เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยเอง มูลหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นกู้ของแต่ละกองทุนรวมจึงมิได้เกี่ยวข้องกัน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมนำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยในนามกองทุนรวมทั้งสี่กองทุน แม้ฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียว ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยเป็นรายกองทุนรวม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมได้ โจทก์ได้จัดตั้งและจดทะเบียนโครงการจัดการกองทุนรวมต่าง ๆและได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยเพื่อถือหุ้นกู้ในนามของกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้อำนาจการจัดการดูแลของโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามของกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 จำนวน 10,000 หน่วย มูลค่า 10,000,000 บาท วันที่4 เมษายน 2538 และวันที่ 28 สิงหาคม 2538 โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามของกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวีรวมจำนวน 15,000 หน่วย รวมมูลค่า 15,000,000 บาทวันที่ 30 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 12 มิถุนายน 2538 โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามของกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี รวมจำนวน 20,000 หน่วย รวมมูลค่า 20,000,000บาท วันที่ 21 กรกฎาคม 2538 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามของกองทุนรวมไทยพาณิชย์วอลล์สตรีท รวมจำนวน 20,000,000 บาท กองทุนรวมเหล่านั้นจึงเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 21 มิถุนายนและวันที่ 21 ธันวาคมของทุกปีและมีสิทธิได้รับการไถ่ถอนหุ้นกู้ตามกำหนดไถ่ถอนภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 หรือก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ในกรณีมีเหตุการณ์อันเป็นเงื่อนไขให้จำเลยมีหน้าที่ต้องไถ่ถอนหุ้นก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2540 จำเลยได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้ระงับการดำเนินกิจการและให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งกระทรวงการคลังพิจารณา แต่ปรากฏว่าวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผลให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้จำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่งวดประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ จำเลยอยู่ในฐานะต้องปิดกิจการเป็นการถาวร ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิตามมูลหนี้หุ้นกู้ จำเลยไม่อาจถือประโยชน์จากเงื่อนเวลาที่กำหนดวันชำระหนี้หรือวันไถ่ถอนหุ้นกู้ตามกำหนดเดิมได้อีกต่อไปดังนั้นจำเลยจะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้คืนให้โจทก์ทั้งหมดและต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 69,988,527.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปีของต้นเงิน 65,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยหลายครั้งในนามกองทุนต่างกัน และคนละครั้งแยกจากกันดังนั้นข้อหาที่โจทก์เสนอต่อศาลสามารถแยกต่างหากจากกันเป็นหลายข้อหาได้ตามจำนวนครั้งที่โจทก์ซื้อหุ้นกู้จากจำเลย โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหา จึงให้โจทก์แก้ฟ้องระบุจำนวนเงินพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องของแต่ละข้อหาให้ชัดเจน และให้เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ให้ครบภายใน15 วัน หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและนำเงินขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ได้แก้ไขมาชำระเพิ่มจำนวน600,000 บาท ตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่ได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลไว้แล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำให้การสู้คดีศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมนำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยในนามกองทุนรวมจำนวน 4 กองทุน พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยเป็นรายกองทุนรวมหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้จัดให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จากการนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนในหุ้นกู้ของจำเลย การที่โจทก์ซื้อหุ้นกู้จากจำเลยหลายครั้งในนามกองทุนรวมต่างกัน เป็นเพียงวิธีการจัดสรรเพื่อการลงทุนของโจทก์ประกอบกับหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่จำเลยเสนอขายในคราวเดียวกันมูลหนี้ตามฟ้องจึงไม่อาจแบ่งแยกตามจำนวนครั้งที่ซื้อขายเป็นรายกองทุนได้ ทั้งการผิดสัญญาของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง โจทก์ชอบที่จะชำระค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) (ก) เห็นว่ากองทุนรวมทั้งสี่กองทุนตามฟ้องเป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนแล้วจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน และแยกต่างหากจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 124 วรรคสองผลประโยชน์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมแต่ละกองทุนไปลงทุน ย่อมตกแก่กองทุนรวมแต่ละกองทุนตามส่วนของเงินที่นำไปลงทุนและแม้หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่จำเลยเสนอขายแก่โจทก์ในคราวเดียวกัน แต่โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ที่นำทรัพย์สินของกองทุนรวมทั้งสี่กองทุนไปลงทุนโดยโจทก์ได้รับค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นผลตอบแทนเท่านั้น มิใช่เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยเอง มูลหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นกู้ตามฟ้องของแต่ละกองทุนรวมจึงมิได้เกี่ยวข้องกัน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมนำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยในนามกองทุนรวมจำนวน 4 กองทุน พร้อมดอกเบี้ยแม้ฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียว ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยเป็นรายกองทุนรวม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยเป็นรายกองทุนรวมชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน