คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2146/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิฎีกาของคู่ความนั้นจะต้องพิจารณาเป็นกระทงความผิดไปศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานฉ้อโกงกระทงละ 2 ปีรวม 3 กระทง เป็น 6 ปี และจำคุกฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งมีกำหนด 3 ปี รวม 9 ปี ดังนี้ จำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
การที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งสินค้าให้ 3 ครั้งและออกเช็คปลอมชำระราคาให้ในคราวเดียวการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จทุกครั้งที่ผู้เสียหายส่งมอบสินค้าให้การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 3 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี และลงโทษจำเลยทั้งสองฐานใช้เอกสารปลอมตาม มาตรา 268 อีกกระทงหนึ่ง ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สิทธิฎีกาของคู่ความนั้นต้องพิจารณาเป็นกระทงความผิดไป คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 กระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทงเป็น 6 ปี และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 มีกำหนด 3 ปี รวม 9 ปี จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 คงฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามมาตรา 222

คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเพียงว่า ในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น จำเลยที่ 2 กระทำผิดกรรมเดียว หรือหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลจะต้องลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปดังที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 มา ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า มีผู้โทรศัพท์แสดงตนเป็นจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อปากกาป๊ากเกอร์จาก นางจินตนาโหตรภวานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกขายของบริษัทปาร์เกอร์ดิสทริบิวเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด รวม 3 ครั้ง จำนวน 414 ด้าม เป็นเงิน 50,000 บาท นางจินตนาสั่งให้พนักงานขายไปรับหนังสือสั่งซื้อจากสำนักงานจำเลยที่ 1 และนำปากกาตามที่สั่งซื้อรวม 3 ครั้งไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระราคาปากกาที่สั่งซื้อด้วยเช็ค ซึ่งกรอกข้อความและลงลายมือชื่อนางสาวจันทรา บุญโต ผู้สั่งจ่ายปลอม ความจริงเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่นางสาวจันทรา บุญโต เจ้าของเช็คแจ้งว่าสูญหายและอายัดไว้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ภายหลังที่นางจินตนาได้รับชำระราคาปากกาตามเช็คเอกสารหมาย จ.7 แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2521 นางจินตนาและนายฉัตรชัยพนักงานขายได้พากันไปทวงถามจำเลยที่ 1 ให้เปลี่ยนเช็คฉบับใหม่หรือชำระราคาปากกาเป็นเงินสด จำเลยที่ 2 อ้างว่าเช็คตามเอกสารหมาย จ.7 ใช้ได้ และผัดผ่อนรอรวบรวมเงินก่อน และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2521 นางจินตนาได้ไปขอปากกาที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อคืน จำเลยที่ 2 อ้างว่าแจกแก่ผู้ซื้อบัตรไปหมดแล้วก่อนถึงวันงาน นางจินตนาเป็นผู้ชี้จำเลยที่ 2 ให้ตำรวจจับกุม ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำตำรวจไปค้นได้กล่องปากกาป๊ากเกอร์จำนวน 105 กล่องจากสำนักงานของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งพยาน หลักฐานที่โจทก์นำสืบแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2ที่แสดงออกดังกล่าวเป็นการยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งซื้อปากกาและยังมิได้ชำระราคา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อปากกาป๊ากเกอร์จากนางจินตนารวม 3 ครั้ง (คือเมื่อวันที่10, 15 และ 30 สิงหาคม 2521) นางจินตนาสั่งให้พนักงานขายไปรับหนังสือสั่งซื้อจากสำนักงานจำเลยที่ 2 และนำปากกาตามที่สั่งซื้อรวม 3 ครั้ง ไปมอบแก่จำเลยที่ 2 แล้ว (คือเมื่อวันที่ 11, 16 และ 30 สิงหาคม 2521) แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ออกเช็คจำนวน 50,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 รวมชำระให้นางจินตนาไปครั้งเดียวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2521 โดยลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าเป็นวันที่ 30 กันยายน 2521 ก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ละครั้งก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานขายนำปากกาตามที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อแต่ละครั้งไปมอบให้จำเลยที่ 2 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน”

พิพากษายืน

Share