คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าให้จำเลยกู้ยืมเงินครั้งละ500,000 บาท รวม 4 ครั้ง และผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าให้จำเลย กู้ยืมเงินรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 1,300,000 บาท โดยไม่มีหลักฐาน การจ่ายเงินหรือหลักฐานการกู้ยืมเงิน และไม่มีหลักประกันใด ๆ ทั้งที่เงินที่ให้กู้ยืมก็มีจำนวนมาก และผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็น ผู้ประกอบการค้าน่าจะมีบัญชีเงินฝากในธนาคารซึ่งสามารถนำสืบถึง หลักฐานการจ่ายเงินให้กู้ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่าให้ กู้ไปแล้วได้รับชำระหนี้เป็นหุ้นกู้จึงทำลายหลักฐานการกู้ยืมรวม ทั้งเช็คที่จำเลยจ่ายให้ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 อ้างเพียงว่าให้ จำเลยกู้ยืมเงิน โดยไม่มีพยานหลักฐานใด มาสืบสนับสนุนข้ออ้าง จึง ไม่น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านทั้ง สองได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินจริง ทั้ง ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านทั้งสองให้การว่าผู้คัดค้านทั้งสองรู้จักสนิทสนมกับ ช.กรรมการผู้จัดการบริษัทท. มานานแล้ว การรับโอนหุ้นของจำเลย ก็โอนมาจากบริษัทดังกล่าว นี้ ดังนั้น ผู้คัดค้านทั้งสองจึงน่าจะรู้ถึงฐานะและการมีหนี้สิน ของจำเลยดี และรู้ถึงการที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องและถูกบังคับคดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองรับโอนหุ้นของจำเลยไว้จึงเป็นการรับโอนไว้โดย ไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน การเพิกถอนการโอนหุ้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยัง ไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือเป็นการโอน โดย ชอบอยู่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แต่งทนายความแก้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นในบริษัทไทยดีเซล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ระหว่างจำเลยผู้โอนกับผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับโอน ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาค่าหุ้นเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาทและให้ผู้คัดค้านที่ 2 ชดให้ราคาค่าหุ้นเป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นตามคำร้อง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะการส่งมอบใบหุ้นเป็นว่าให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาค่าหุ้นเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาทและให้ผู้คัดค้านที่ 2 ชดใช้ราคาค่าหุ้นเป็น จำนวนเงิน 1,800,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าคดีในศาลชั้นต้นและแก้อุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับโอนหุ้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่าให้จำเลยกู้ยืมเงิน 4 ครั้งครั้งละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท กับเป็นหนี้ค่าขายสินค้าอีก 700,000 บาท เมื่อจำเลยชำระหนี้เป็นหุ้นแล้วได้ให้นายเกษม ศิลปนรเศรษฐ์ ฉีกหลักฐานทั้งหมดทิ้ง จึงไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ ข้อนี้เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะให้จำเลยกู้ยืมเงินครั้งละ 500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากและจ่ายถึง4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท การจ่ายเงินจำนวนสูงเช่นนี้ผู้คัดค้านที่ 1 น่าจะมีหลักฐานการจ่ายเงินซึ่งอย่างน้อยที่สุดในฐานะที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้าน่าจะมีบัญชีเงินฝากในธนาคารซึ่งสามารถนำสืบถึงหลักฐานการจ่ายเงินให้กู้ได้ การที่นำสืบเพียงลอย ๆ ว่าให้กู้ไปแล้วได้รับชำระหนี้เป็นหุ้นจึงทำลายหลักฐานการกู้ยืมรวมทั้งเช็คที่จำเลยจ่ายให้เท่านั้น จึงเป็นการอ้างง่าย ๆ ไร้เหตุผลและไม่น่าเชื่อ สำหรับหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยซื้อมาเป็นสินค้าจากต่างประเทศซึ่งผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการอยู่ยิ่งจะต้องมีหลักฐานการส่งสินค้าอย่างแน่นอนแต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มิได้นำมาแสดงจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีมูลหนี้ดังกล่าวนี้อยู่จริง อีกประการหนึ่งการให้กู้ยืมเงินหลายครั้งแต่ละครั้งยังไม่ได้รับชำระหนี้ยังให้กู้ยืมเงินไปอีก โดยผู้คัดค้านที่ 1 รู้อยู่ว่าจำเลยมีฐานะการเงินไม่ดี ก็เป็นพิรุธว่าผู้ที่ประกอบการค้าไม่น่าจะวางใจให้กู้ไปโดยไม่มีหลักประกันใด ๆให้ยืดถือไว้ จึงไม่มีเหตุผลใดทำให้เชื่อได้ว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงประกอบกับในชั้นสอบสวน ผู้คัดค้านที่ 1 ให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามเอกสารหมาย ร.1 ว่า บริษัทไทยดีเซลดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนหุ้นไว้นั้นมีนายชาญ ธีระสถิตย์ชัย เป็นกรรมการผู้จัดการและนายชาญได้ทำการติดต่อซื้อสินค้าจากผู้คัดค้านที่ 1 ในนามของจำเลย ผู้คัดค้านที่ 1 กับนายชาญรู้จักกันมานานประมาณ 10 ปี แล้ว การให้จำเลยกู้ยืมเงินนายชาญก็เป็นผู้ดำเนินการ จึงแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมที่ผู้คัดค้านที่ 1 กับนายชาญมีต่อกัน ผู้คัดค้านที่ 1จึงน่าจะได้รู้ถึงฐานะความเป็นหนี้สินของจำเลยเป็นอย่างดีและน่าเชื่อว่าได้รู้ถึงการที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งและถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาอยู่ด้วย หลังจากนั้นจึงมีการโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามเอกสารหมาย ร.4 พฤติการณ์ทั้งหมดจึงบ่งชี้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนหุ้นโดยประสงค์จะช่วยจำเลยเป็นการโอนไปโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าให้การไว้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะไม่รู้ภาษาไทย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วก็มิได้อ่านให้ฟังนั้นเห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ร.1 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ให้การไว้เป็นเรื่องราวยากที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเขียนขึ้นเอง ทั้งยังมีข้อความสุดท้ายว่าอ่านแล้วและผู้คัดค้านที่ 1 ลงชื่อไว้ ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ก็เช่นเดียวกันกับผู้คัดค้านที่ 1ที่อ้างว่าให้จำเลยกู้ยืมเงินไป 3 ครั้ง รวมเป็นเงินถึง 1,300,000บาท โดยไม่มีหลักฐานการให้กู้เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 ว่าจำเลยเคยสั่งจ่ายเช็คมอบให้ผู้คัดค้านที่ 2หลายฉบับ เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้คัดค้านที่ 2 นำเช็คไปเรียกเก็บเงินธนาคารจ่ายเงินตามเช็คบ้างและปฏิเสธการจ่ายเงินบ้าง หากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้คัดค้านที่ 2 ก็น่าจะนำสืบเอกสารการจ่ายเงินตามเช็คและการปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของธนาคารให้เห็นถึงมูลหนี้ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 ได้แต่ผู้คัดค้านที่ 2ก็มิได้นำสืบเอกสารดังกล่าว คงอ้างเพียงลอย ๆ ว่าให้จำเลยกู้ยืมเงินจึงไม่น่าเชื่อ ทั้งเงินจำนวนมากให้กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันใด ๆก็ไม่น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 2 จะยอมเช่นนั้น ยิ่งเป็นกรณีที่ทราบว่าจำเลยมีฐานะการเงินไม่ดี ยังจะให้กู้ยืมติดต่อกันถึง3 ครั้ง โดยครั้งแรก ๆ ยังมิได้รับชำระหนี้ด้วยแล้วยังให้กู้ยืมในครั้งหลังทำให้ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 2 มีพิรุธขาดน้ำหนักและไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามเอกสารหมาย ร.2 ว่ารู้จักสนิทสนมกับนายชาญมาแต่ปี 2520 และทราบว่านายชาญเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทไทยดีเซลดีเวลลอปเมนท์จำกัด ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนหุ้นไว้ จึงน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 2 รู้ถึงฐานะของจำเลยซึ่งมีนายชาญเป็นผู้จัดการเป็นอย่างดีและน่าเชื่อว่าได้รู้ถึงการที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องและบังคับคดีจึงรับโอนหุ้นไว้โดยเหตุผลเช่นเดียวกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการยืมโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ยื่นคำร้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเห็นว่าการเพิกถอนการโอนหุ้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านทั้งสองชำระนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แต่งทนายความแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้”.

Share