แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุไว้ว่า ในกรณีทรัพย์ที่เอาประกันภัยต้องวินาศภัย ถ้าเกิดความเห็นแตกต่างกันในจำนวนวินาศภัยหรือเสียหาย ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขี้ขาดเสียก่อน แต่เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น ก็หาจำต้องมีการเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดจำนวนวินาศภัยหรือเสียหายไม่
เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้และผู้รับประโยชน์มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบผู้รับประกันภัยกลับเพิกเฉย ไม่ยอมทำความตกลงหรือเสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด ดังนี้ เท่ากับผู้รับประกันภัยปฏิเสธความรับผิดของตนโดยสิ้นเชิง ผู้รับประโยชน์ย่อมมีสิทธิฟ้องผู้รับประกันภัยได้โดยไม่จำต้องเสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อน
ในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัย ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลย โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์นั้น สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายชำนิ ชีพธรรม ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ ได้ประกันวินาศภัยโรงแรมและเฟอร์นิเจอร์ ไว้กับจำเลยเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และโอนสิทธิการรับผลประโยชน์ให้โจทก์รับ ต่อมาเกิดอัคคีภัยไหม้ทรัพย์ที่เอาประกันเสียหายหมด โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยจ่ายเงิน แต่จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์จะเป็นผู้รับประโยชน์หรือไม่ ไม่รับรอง เมื่อเกิดอัคคีภัย โจทก์หรือ นายชำนิมิได้ทำรายการแจ้งให้จำเลยทราบภายใน ๑๕ วันตามกรมธรรม์ และมิได้แจ้งรายละเอียดทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งจะทำให้มีการคำนวณค่าเสียหาย เพราะทรัพย์มิได้เสียหายหมดสิ้น เป็นการผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ และผู้เอาประกันภัยต้องตกลงกับจำเลยก่อน หากไม่ตกลงกันต้องเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ข้อพิพาท ถ้าไม่พอใจจึงจะมีสิทธิฟ้องศาล นอกจากนี้นายชำนิยังแจ้งกับจำเลยขอเพิกถอนสิทธิที่จะให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินแก่ผู้ใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา
ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายชำนิได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ในวงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยมอบอาคารโรงแรมเป็นประกัน และนายชำนิได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยอาคารโรงแรมพร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์ไว้กับจำเลยเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ดังกล่าว ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ตลาด และลุกลามไหม้ทรัพย์ที่เอาประกันนั้น มีปัญหาว่า จำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เอาประกันภัยได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมด มิใช่เสียหายเพียงบางส่วนดังจำเลยต่อสู้และฎีกา และหลังจากเกิดเพลิงไหม้แล้วเพียง ๑๐ วัน โจทก์ได้แจ้งถึงความเสียหายให้จำเลยทราบตามข้อสัญญาในกรมธรรม์
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้ได้เสียหายหมดสิ้น กรณีก็หาต้องมีการเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดเกี่ยวกับค่าวินาศภัยหรือเสียหายตามกรมธรรม์ข้อ ๑๘ ไม่ทั้งเมื่อได้แจ้งเรื่องเพลิงไหม้ให้จำเลยทราบ จำเลยก็เพิกเฉย ซึ่งเท่ากับจำเลยปฏิเสธความรับผิดของตนโดยสิ้นเชิง ไม่ยอมมาทำความตกลงหรือขอตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยมิต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ ข้อ ๑๘
กรมธรรม์ประกันวินาศภัยซึ่งนายชำนิทำไว้กับจำเลย ได้ระบุไว้ว่า ผลประโยชน์อันจะพึงได้รับจากกรมธรรม์ กรณีเกิดการชดใช้ค่าเสียหายในระว่างอายุสัญญา ให้ธนาคารโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นแก่ทรัพย์ที่นายชำนิเอาประกันภัยไว้กับจำเลยจนหมดสิ้น และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์นั้น สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่านายชำนิและจำเลยหาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ , ๓๗๕ นั้น การที่นายชำนิมีหนังสือเพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้รับโยชน์ จึงไม่มีผลแต่อย่างใด จำเลยคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ตลอดไป
คดีฟังได้ว่า โจทก์ได้บอกกล่าวไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด
พิพากษายืน