คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3494/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น ถ้าเหตุแห่งการเลิกจ้างอยู่ที่ฝ่ายเลิกจ้างแล้ว พึงพิจารณาว่าการกระทำหรือการลดเว้นของลูกจ้างเกิดมีขึ้นหรือไม่ และเหตุนั้นเพียงพอแก่การที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีและมีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้างการเลิกจ้างย่อมไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยมิพักต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างน้นมีการสอบสวนก่อนแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ที่ ๑ มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๓,๙๕๐ บาท โจทก์ที่ ๒ มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้จัดการใหญ่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๗,๖๖๕ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดและไม่มีการสอบสวน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ผิดต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเป็นการเลิกจ้างก่อนกำหนดเวลาการจ้างสุดสิ้น ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือเทียบเท่าโดยให้ได้รับเงินเดือน เงินเพิ่มและค่าครองชีพเท่าเดิมจนกว่าจะครบกำหนดเวลาจ้าง ทั้งนี้ ให้ถือว่าไม่มีการเลิกจ้างหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวข้างต้น ก็ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์ที่ ๑ ๓,๕๖๕,๙๐๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๖,๖๖๘,๒๘๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การด้วยวาจาร่วมกันทั้งสองสำนวนว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการของจำเลยซึ่งเป็นความผิดสัญญาจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทุกประเภท และค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๕,๕๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ที่ ๑ นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีการสอบสวนก่อน ทั้งนี้ตามระเบียบพนักงานของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ.๒๕๒๔ ข้อ ๑๘.๒ และ ๑๘.๓ (โจทก์คงหมายถึงเอกสารหมาย จ.๑๙) เพราะฉะนั้น การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อนี้เห็นว่า การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ถ้าเหตุแห่งการเลิกจ้างอยู่ฝ่ายลูกจ้างแล้ว พึงพิจารณาว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของลูกจ้างเกิดมีขึ้นหรือไม่ประการใด และเหตุนั้นเพียงพอแก่การที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นข้อสำคัญ หากมีและมีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้าง การเลิกจ้างนั้นย่อมไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างนั้นมีการสอบสวนก่อนแล้วหรือไม่ คดีนี้มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ สาเหตุนั้น ๆ เพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่ คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ได้นำสืบจนสิ้นกระแสความแล้ว ลำพังแต่ไม่มีการสอบสวนก่อนเท่านั้นจึงหาทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยแล้วหรือไม่และมากน้อยเท่าใดตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยความข้อนี้ให้ตน
พิพากษายืน
(จุนท์ จันทรวงศ์ – มาโนช เพียรสนอง – สีนวล คงลาภ

Share