แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นไปตามสิทธิที่ธนาคารโจทก์จะเรียกได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523ประกอบด้วยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2524ข้อ2 ฉะนั้นแม้จะถึงกำหนดชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนและจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระคืนแก่โจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18ต่อปีได้ เพราะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น หนังสือค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อความระบุให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในจำนวนเงินที่กู้ 3,220,000 บาท แทนกัน แต่สัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับได้ระบุจำนวนเงินกู้ตามสัญญาฉบับเดียวกัน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 3,220,000 บาทเช่นนี้เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหาใช่แบ่งส่วนความรับผิดกันไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,220,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ผ่อนชำระเป็นรายเดือน กำหนดเวลา 6 เดือนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หลังจากทำสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์นับถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม6,407,579.43 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,407,579.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,220,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย และโจทก์ไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การปรับดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะและถือว่ายกเลิกอัตราดอกเบี้ยข้อตกลงเดิม นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2526โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีและจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินกู้จำนวน 3,220,000 บาท จากโจทก์จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เพียง 1 ใน 3 ส่วนของเงินกู้จำนวน 3,220,000 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริง แต่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงิน 3,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3ชำระหนี้เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,220,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ดังนี้ ร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2527 ร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 และร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 จนครบถ้วนจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่24 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินไปจากโจทก์ สาขาสุรวงศ์จำนวน 3,220,000 บาท โดยมีข้อตกลงปรากฎตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ในการนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามลำดับ นับแต่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์เลย
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 จะชำระหนี้คืนภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2526ฉะนั้น นับจากวันที่ 25 กรกฎาคม 2526 เป็นต้นไป โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 และมาตรา 224 เท่านั้น และการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ได้แจ้งแก่จำเลยให้ทราบก่อน เป็นการไม่ชอบ เห็นว่าตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ. 2523 ประกอบด้วยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2524 ข้อ 2 เอกสารหมาย จ.4 ฉะนั้นแม้จะถึงกำหนดชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนและจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระคืนแก่โจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีได้ เพราะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว และการที่โจทก์ปรับดอกเบี้ยลดต่ำลงก็เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม 2526วันที่ 5 มีนาคม 2527 วันที่ 26 ธันวาคม 2528 และวันที่ 3 มีนาคม2529 ตามเอกสารหมาย จ.4 ตามลำดับซึ่งล้วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1ผู้เป็นลูกหนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า หนังสือค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ไม่มีข้อความระบุให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในจำนวนเงินที่กู้ 3,220,000 บาท แทนกัน สัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับได้ระบุจำนวนเงินกู้ตามสัญญาฉบับเดียวกัน จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบเพียงคนละ 1 ใน 3 ของเงินกู้จำนวน3,220,000 บาทเท่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามลำดับเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน3,220,000 บาท เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหาใช่แบ่งส่วนความรับผิดกันดังฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน