แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 97 บัญญัติว่า แม้เจ้าหนี้มีประกันขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็น เจ้าหนี้มีประกัน ศาลก็อาจอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ได้ หากเจ้าหนี้แสดงต่อศาลได้ว่าการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ และตามมาตรา108 นั้นถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้ โดยผิดหลงว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้ หรือเป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนที่อนุญาตให้รับชำระหนี้ ศาลอาจมีคำสั่งใหม่ให้ ยกคำขอ หรือลดจำนวนหนี้ที่อนุญาตไปแล้วได้ ทั้งตามมาตรา108 นี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งใหม่ได้เสมอ แม้คำสั่งเรื่องคำขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ฉะนั้นโดยนัยเดียวกันศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ได้แม้คำสั่งศาลเรื่องคำขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม หากผู้ขอรับชำระหนี้แสดงได้ว่า การละเว้นไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยความพลั้งเผลอ
ความในตอนท้ายของมาตรา 97 ที่ว่า “โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่ง หรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร” นั้นแสดงว่าแม้จะมีการขายและแบ่งทรัพย์สินไปบ้างแล้วแต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งครั้งที่สุดตาม มาตรา 131 ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 97ได้เพราะฉะนั้นแม้คำสั่งศาลเรื่องขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็อาจจะร้องขอแก้ไขข้อความในคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 97 ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของนายอุดม เจ้าหนี้ (จำเลยที่ ๒) ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๒ ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันหลายอันดับรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๗๑,๘๕๘,๗๘๓ บาท ๕๐ สตางค์ ต่อมาผู้ร้องทราบว่าการยื่นคำร้องในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งหมดนั้นผิดพลาดเนื่องจากความพลั้งเผลอ ความจริงหนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้อันดับที่ ๖ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นหนี้มีประกันโดยลูกหนี้จำนำหุ้นไว้เป็นเงิน ๒,๑๕๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องจึงได้ขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ไม่ได้ผลและจนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์แบ่งส่วนแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ ผู้ร้องจึงขออนุญาตแก้ไขคำร้องขอรับชำระหนี้จากเดิมเป็นว่า หนี้ราย (หรืออันดับ) ที่ ๖ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๖ อยู่จำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท และขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้อันดับที่ ๖ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเอาเงินชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน และขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามมาตรา ๙๖(๓)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งหมด ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้อันดับ ๖ เป็นหนี้มีประกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งให้ลบหลักประกันตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ธรรมดา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบแล้ว แต่ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำสั่ง คำสั่งของศาลจึงถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ตามคำร้องขอรับชำระหนี้อันดับที่ ๖ อยู่จำนวน ๒,๑๕๐,๐๐๐ บาท ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดใบหุ้นที่จำนำเอาเงินชำระหนี้อันดับที่ ๖ ก่อน หนี้นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉพาะอันดับที่ ๖ อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันก็เนื่องจากการพลั้งเผลอ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า แม้เจ้าหนี้มีประกันขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ศาลก็อาจอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ได้ หากเจ้าหนี้แสดงต่อศาลได้ว่าการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ในมาตรา ๙๗ มิได้บัญญัติว่าการที่เจ้าหนี้จะแสดงต่อศาลว่า การละเว้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอนั้นจะต้องกระทำเมื่อใด ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๑๐๘ นั้น ถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้โดยผิดหลงลูกหนี้เป็นหนี้ตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้ หรือเป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนหนี้ที่อนุญาตให้รับชำระหนี้ ศาลอาจมีคำสั่งใหม่ให้ยกคำขอ หรือลดจำนวนหนี้ที่อนุญาตไปแล้วได้ และตามมาตรา ๑๐๘ นี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งใหม่ได้เสมอ แม้คำสั่งเรื่องคำขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ฉะนั้นโดยนัยเดียวกันศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ได้ แม้คำสั่งศาลเรื่องคำขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม หากผู้ขอรับชำระหนี้แสดงได้ว่า การละเว้นไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยความพลั้งเผลอ เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ความในตอนท้ายของมาตรา ๙๗ ที่ว่า” โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร” นั้น แสดงว่าแม้จะมีการขายและแบ่งทรัพย์สินไปบางแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งครั้งที่สุดตามมาตรา ๑๓๑ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๗ ได้เพราะหาไม่แล้วกฎหมายจะบัญญัติให้อำนาจศาลกำหนดให้คืนส่วนแบ่งตามที่เห็นสมควรหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นแม้คำสั่งศาลเรื่องขอรับชำระหนี้จะถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็อาจจะร้องขอแก้ไขข้อความในคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๗ ได้
พิพากษายืน.