คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 121 ย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)มีสิทธิฟ้องนายจ้างให้รับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 158 ได้ เมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ กำหนดไว้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด มีจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทั้งสามและเป็นกรรมการเลขานุการสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2520 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าไม่ไว้วางใจในความประพฤติของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 110/2520 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2520 ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายก่อนเลิกจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงานภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่ง ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2520 ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2521 โจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อขอกลับเข้าทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 และมาตรา 158

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ฟ้องของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับไม่ได้ตัวจำเลยที่ 2 มาพิจารณาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 1 ยื่นใบแต่งทนายไว้แต่ยังมิได้ยื่นคำให้การต่อศาลเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงว่าบริษัทจำเลยที่ 1ประกอบธุรกิจโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้เหตุผลว่าไม่ไว้วางใจในหน้าที่และความประพฤติของโจทก์ โจทก์ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงานโดยเหตุอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และสั่งให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน15 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งวันที่ 3 มกราคม 2521 แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามเพราะเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ถูกต้องและได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กับโจทก์คดีนี้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2521เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ 110/2520 ตามคดีหมายเลขดำที่ 495/2521 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องโจทก์ประกอบกับคำแถลงของคู่ความแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหายพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ฯลฯ ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ฯลฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีบทลงโทษไว้ตามมาตรา 158 แต่การฝ่าฝืนมาตรา 121 นี้ ผู้เสียหายจะดำเนินคดีทันทีไม่ได้เพราะมาตรา 127 บัญญัติไว้ว่า “การฝ่าฝืนตามมาตรา 121 มาตรา 122 หรือมาตรา 123 จะดำเนินคดีอาญาได้ต่อเมื่อผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนได้ยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 124 และผู้ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 125” ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันฟังได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตามที่มาตรา 124 ระบุไว้เพราะถูกเลิกจ้างก็ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 125 แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาก็หาได้ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายครบถ้วนแล้วและโจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องคดีได้

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share