คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้รับทรัพย์มรดกซึ่งรวมทั้งที่พิพาทมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1ผู้เป็นสามีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466(เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์มรดกอื่นส่วนที่เป็นของผู้ร้องย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกันดังนั้น แม้จะมีการนำเงินที่ได้จากการขายพืชผลของสวนและนา มรดกไปไถ่ถอนจำนองที่พิพาทและโอนที่พิพาทให้กับผู้ร้องในปี พ.ศ. 2520ภายหลังจาก พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ทำให้ที่พิพาทกลับกลายเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่พิพาทที่โจทก์นำยึด บทบัญญัติมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีความหมายเฉพาะว่าความสมบูรณ์ของการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ไม่ถูกกระทบกระเทือน คือไม่เสื่อมเสียไปเท่านั้น ไม่ได้มีข้อความว่าให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ย้อนหลังอันเป็นการยกเว้นความตามมาตรา 2 แต่อย่างใด จะถือว่าความสมบูรณ์ของการอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 จะต้องถูกกระทบกระเทือนคือต้องเปลี่ยนไปใช้กฎหมายใหม่หาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้กฎหมายไม่ต้องด้วยความตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 และมาตรา 5 ดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคแรก.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1952 เลขที่ 13 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูนจังหวัดลำพูน เพื่อทำการขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทดังกล่าว
โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินส่วนตัวของผู้ร้อง เพราะเป็นการได้มาในระหว่างสมรส โดยผู้ร้องไถ่ถอนจำนองจากเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางบัวผามารดาผู้ร้อง นางบัวผาได้จำนองไว้แก่ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด นางบัวผาถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ. 2513 ผู้ร้องและนางเหรียญทองมงคล เป็นผู้จัดการมรดกนางบัวผาตามคำสั่งศาล ได้มีการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและโอนมรดกให้กับผู้ร้องใน พ.ศ. 2520 ผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทผู้ร้องได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง เห็นว่า เมื่อนางบัวผาถึงแก่ความตายทรัพย์สินทั้งหมดของนางบัวผาก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ในกรณีที่มีทายาทหลายคนและยังไม่มีการแบ่งมรดกทายาททุกคนจึงเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกทั้งหมดร่วมกัน ถือได้ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทใน พ.ศ. 2513เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ 1464 กรณีที่ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมานี้มิใช่กรณีที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 และ 1464ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และตราบใดที่ยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์มรดกทั้งหลายย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาททุกคนร่วมกัน ผลประโยชน์ส่วนที่เป็นของผู้ร้องย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 อีก ดังนั้นเงินที่ได้จากการขายพืชผลของสวนและนามรดกที่นำไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินส่วนตัวของผู้ร้องแม้จะได้มีการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวในพ.ศ.2520 ภายหลังจากพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเรื่องการแบ่งมรดกระหว่างทายาทมิใช่เป็นการได้รับทรัพย์มรดกอันจะเป็นสินส่วนตัวเพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1471(3)บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ย่อมไม่กลับกลายเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพราะจะเป็นการใช้มาตรา 1471(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ย้อนหลังขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวที่ผู้ร้องฎีกาว่าพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 3 บัญญัติว่าให้ยกเลิกบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 และให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน เว้นแต่ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติเป็นอย่างอื่น และมาตรา 5 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส สัญญาก่อนสมรส การเป็นบิดามารดากับบุตร การเป็นผู้ปกตรอง การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์และการรับบุตรบุญธรรมที่ได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ฉะนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่ใช้อยู่เดิมย่อมถูกยกเลิกไป และนำกลับมาใช้บังคับไม่ได้เพราะไม่ใช่เรื่องที่บัญญัติยกเว้นไว้ตามมาตรา 5 ดังกล่าว จึงต้องนำความตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1471 มาใช้บังคับ ซึ่งต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ความตามมาตรา 5นี้ คงมีความหมายเฉพาะว่า ความสมบูรณ์ของการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ไม่ถูกกระทบกระเทือน คือไม่เสื่อมเสียไปเท่านั้นไม่ได้มีข้อความให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ย้อนหลังอันเป็นการยกเว้นความตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วแต่อย่างใด จะถือว่าความสมบูรณ์ของการอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ดังกล่าวจะต้องถูกกระทบกระเทือนถึงคือต้องเปลี่ยนไปใช้กฎหมายใหม่หาได้ไม่เพราะเป็นการใช้กฎหมายไม่ต้องด้วยความตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 4 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “อันกฎหมายนั้น ท่านว่าต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร ฯลฯ”คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share