แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืน…ฯ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ในฐานะดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างถนนเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์อ้างว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ให้สิทธิแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งหรือไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น รัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ และเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท เท่ากับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจะฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมแล้วไม่ได้ เพราะจะเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 34,580,951 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ และไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน 5,733,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน 1,638,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2332 ตำบลบางจากฝั่งเหนือ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 2 ไร่ 19 ตารางวา อันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2542 เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน 6,552,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกษฎีกาดังกล่าว มาตรา 6 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ในฐานะดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างถนนเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 การดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 มาตรา 3 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมแล้ว ขอให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่าตามคำแถลงของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2548 พร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงินที่จำเลยทั้งสองยื่นในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์และเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท เท่ากับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท เช่นกัน คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฯ ในกรณีนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ฟ้องคดีต่อศาล โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้นเท่ากับเป็นฎีกาที่ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยให้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นฎีกาที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฯ จำเลยทั้งสองหามีสิทธิฎีกาเช่นนี้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสอง…”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ