คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีได้ความว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง แต่ละแปลงตั้งอยู่ต่างอำเภอกัน ที่ดินแปลงหนึ่งมีเนื้อที่น้อยไม่สามารถจะแบ่งปันให้แก่ทายาทซึ่งมีทั้งหมด 6 คนได้จึงมีความจำเป็นต้องขายที่ดินนี้แล้วนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาททุกคน แม้ทายาทจะมีสิทธิขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินโดยทางพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็ได้วางวิธีปฏิบัติไว้หลายขั้นตอนและพนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จดทะเบียนก็ได้หากมีการโต้แย้งคัดค้านคู่กรณีก็ต้องนำคดีมาสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยในที่สุด วิธีการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินดังกล่าวจึงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายประการและก็ไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับอนุญาตเสมอไป กรณีจึงพอถือได้ว่าการจัดการหรือการแบ่งปันมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องชอบที่ทายาทจะใช้สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(2)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายชาญ นางหลวง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน นางหลวงได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่มิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางหลวง ตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713(2) บัญญัติว่า เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดก ก็ให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ คดีได้ความว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง แต่ละแปลงอยู่ต่างอำเภอกันในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ดินแปลงที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีเนื้อที่น้อยไม่สามารถจะแบ่งปันให้แก่ทายาท คือบุตรของผู้ตายรวมทั้งผู้ร้องซึ่งมีทั้งหมด 6 คนได้ แม้ในชั้นไต่สวนจะไม่ปรากฏเหตุแน่ชัดว่าเหตุใดจึงไม่สามารถจะแบ่งกันได้ก็ตาม แต่ก็ได้ความตามฎีกาของผู้ร้องว่าเพราะที่ดินแปลงนี้มีธนาคารพาณิชย์ตั้งอยู่เพียง 4 คูหา จึงไม่อาจแบ่งกันได้เพราะมีทายาทถึง 6 คน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวนี้แล้วนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาททุกคน จริงอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 ทายาทของผู้ตายมีสิทธิขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินโดยทางพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ แต่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 ก็ได้วางวิธีปฏิบัติทางพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้หลายขั้นตอนด้วยกัน และพนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จดทะเบียนก็ได้ ดังที่กฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้กำหนดไว้ นอกจากนั้นในกรณีที่มีการโต้แย้งคัดค้านคู่กรณีก็ต้องนำคดีมาสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยในที่สุด จึงเป็นที่เห็นได้ว่าวิธีการจดทะเบียนรับมรดกที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินการทางพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายประการและก็ไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับอนุญาตเสมอไป กรณีจึงพอถือได้ว่าการจัดการหรือแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงที่ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีเหตุขัดข้องชอบที่ทายาทจะใช้สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางไต่สวน ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

พิพากษากลับ ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

Share