แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาขายที่ดินมีการกรอกข้อความและมีลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยในช่องลงลายมือชื่อผู้ขาย แต่ไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อผู้ซื้อ การที่จำเลยนำสืบว่า ว.และส. เคยมาขอซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งของจำเลย จำเลยได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารซื้อขายจำนวน 2 ฉบับที่ดินที่ขายไม่ใช่ที่ดินพิพาท จำเลยมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบเพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงของหนังสือสัญญาขายที่ดินว่าจำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเพราะเหตุใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเสรี สุชาตะประคัลภ์ ซื้อที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ จากจำเลยซึ่งได้สละการครอบครองมานับตั้งแต่วันทำสัญญา นายเสรีได้ครอบครองจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นโจทก์ได้ครอบครองต่อมาโดยตลอด แต่เมื่อปี 2537 โจทก์จะเข้าทำประโยชน์จึงแจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหายนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ไม่เคยขายที่ดินพิพาท และไม่เคยสละการครอบครองให้นายเสรี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยถึงแก่กรรมนางจันเพ็ญ วรรณสิม ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเสรี ถือว่าเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน บันทึกถ้อยคำ และเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือไม่ และตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ซึ่งจำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ ทั้งถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายเสรีแล้วหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์สำหรับที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ตั้งอยู่บ้านท่างอย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี หนังสือสัญญาขายที่ดินไม่ได้ลงชื่อนายเสรีผู้ซื้อที่ดินจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทให้นายเสรี และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้นายเสรี และจำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนายเสรีหรือแทนโจทก์ ปัญหาว่าการนำสืบพยานบุคคลประกอบหนังสือสัญญาขายที่ดินของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาวามแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาขายที่ดินมีการกรอกข้อความและมีลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยในช่องลงลายมือชื่อผู้ขาย แต่ไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อผู้ซื้อ การที่จำเลยนำสืบว่านายวินัย ไม่ทราบนามสกุล และนายสุดตา ดำริห์ เคยมาขอซื้อที่ดินที่หนองขี้เห็น เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำเลยได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารการซื้อขายจำนวน 2 ฉบับ ที่ดินที่ขายดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินพิพาทจำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบเพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงของหนังสือสัญญาขายที่ดินว่าจำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเพราะเหตุใดไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ส่วนปัญหาที่ว่า การที่จำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดิน ถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นายเสรีแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเสรี อีกทั้งนายเสรีและโจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่จำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว โดยโจทก์ไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่ยืนยันว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นายเสรีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน