แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานธนาคารออมสิน จำเลยได้เบิกเงินค่าเล่าเรียนจากจำเลยไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกคืนได้ตามระเบียบวิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรและการยืมเงินทดรองสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยที่จ่ายให้โจทก์ไปโดยไม่ถูกต้องดังกล่าวคืนนั้นไม่ใช่สิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์เพื่อชดใช้เงินซึ่งโจทก์เบิกไปโดยมิชอบได้ไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งประจำแผนกจ่ายเงิน กองรักษาเงิน ฝ่ายการบัญชี อัตราเงินเดือนเดือนละ 9,320 บาท มีสิทธิรับเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยปฏิบัติฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 โดยสั่งหักหนี้อื่นจากเงินเดือนของโจทก์ เพื่อชดใช้เงินค่าเล่าเรียนบุตรซึ่งโจทก์เบิกไปโดยได้รับอนุญาตการจ่ายแล้ว ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 140 ประกอบกับคำสั่งที่ 33/2520 ต่อมามีการโต้แย้งการเบิกจ่ายเงินจำนวนนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่ยุติตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 140 จำเลยกลับสั่งหักเงินเดือนของโจทก์จำนวน 1,280 บาท โดยหักเดือนเมษายน 2525 เป็นเงิน 640 บาท และเดือนพฤษภาคม 2525 เป็นเงิน 640 บาท เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 เพราะสิทธิเรียกร้องยังมีข้อต่อสู้อยู่หักกลบลบหนี้ไม่ได้ ทั้งจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 140 และคำสั่งที่ 33/2520 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จดทะเบียนแล้ว โดยโจทก์เบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรมีการตรวจสอบและอนุญาตจ่ายเงินแล้วจากตัวแทนของจำเลย จำเลยจะโต้แย้งอีกไม่ได้ และตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 140 ข้อ 10 กำหนดว่าในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบการนี้ ให้คณะกรรมการธนาคารออมสินเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด แต่จำเลยโดยผู้อำนวยการกลับเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดสั่งหักเงินเดือนโจทก์ ซึ่งตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 140 ไม่ได้ให้จำเลยมีอำนาจหักเงินเดือนของโจทก์กรณีดังกล่าว การกระทำของจำเลยฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,280 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยหักเงินเดือนโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิในการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร โจทก์ไม่ถูกต้องตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 140 และ 162 โดยเบิกเงินที่มิใช่ค่าเล่าเรียนรวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 1,280 บาท คือนำค่าอาหาร 600 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 40 บาท ของเด็กชายเอกพล พานิช บุตรโจทก์ ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลเบญจมาศ เบิกตาม อส.20 เลขที่ 342232 ลงวันที่16 มกราคม 2524 และ อส.20 เลขที่ 341778 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2524 โดยเบิกรวมกับค่าเล่าเรียนเพราะโจทก์หลงผิดเข้าใจว่าค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียนดังกล่าวเป็นค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งสถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ความจริงมิได้มีความหมายเช่นนั้น โจทก์เบิกเงินค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียน 2 ครั้ง เป็นเงิน 1,280 บาท มิใช่เป็นการเบิกเงินตามเจนารมณ์ของเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรตามระเบียบการฉบับที่ 140 และ 162 ค่าเล่าเรียนตามระเบียบการฉบับที่ 140 ข้อ 3 หมายความเพียงว่าเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนซึ่งปัจจุบันเรียกว่าค่าธรรมเนียมการเรียนส่วนค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายเป็นค่าเล่าเรียนนั้นต้องเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้แต่ละปีว่าจะเบิกได้ประเภทใดเพียงใด ในปีการศึกษาที่โจทก์นำค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียนมาเบิกนั้นกระทรวงศึกษาธิการมิได้กำหนดว่าให้เบิกได้ ให้เบิกเฉพาะค่าเล่าเรียนครั้งละ 600 บาทเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโต้แย้งกันอยู่ ความจริงจำเลยชี้แจงให้โจทก์ทราบครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับฟัง ต้องการเบิกทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอาหารและค่าอุปกรณ์ ข้อโต้แย้งจึงยุติไปแล้ว เมื่อโจทก์เบิกเงินไป 1,280 บาท จำเลยก็ต้องเรียกคืนและมีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์มาชดใช้ จำเลยมิได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 30 เพราะเงินที่จำเลยหักจากเงินเดือนของโจทก์ 1,280 บาท มิใช่หนี้อื่นแต่เป็นการเรียกคืนตามสิทธิของจำเลยที่มีต่อโจทก์ในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น การหักเงินเดือนของโจทก์มิได้มีความหมายว่าเป็นการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยไม่ได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 140 และคำสั่งที่ 33/2520 การตรวจสอบและอนุญาตจ่ายเงินของหัวหน้างานโจทก์มีความหมายเพียงว่า โจทก์นำหลักฐานการเบิกมาแสดงครบถ้วนตามใบเบิกคือ อส.20 หรือไม่มิได้หมายความเลยไปว่าโจทก์ใช้สิทธิเบิกเงินต่าง ๆ ถูกต้องหรือไม่เพียงใด เพราะหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องเป็นของการพนักงานและกองงบประมาณของจำเลย การเบิกเงินค่าเล่าเรียนตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 140 และ 162 ต้องเบิกค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อันเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเบิกทั้งสองอย่างในคราวเดียวกันมิได้ หากฟังว่าโจทก์สามารถเบิกค่าอาหารและค่าอุปกรณ์ โจทก์คงมีสิทธิเบิกเฉพาะค่าเล่าเรียนหรือค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยรับกันว่า เด็กชายเอกพล พานิช เป็นบุตรโจทก์เคยเรียนอยู่ชั้นอนุบาลโรงเรียนอนุบาลเบญจมาศ อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ โจทก์เบิกเงินจากจำเลยเป็นค่าอาหารเทอมละ 600 บาท และค่าอุปกรณ์การเรียนเทอมละ 40 บาท รวม 2 เทอม สำหรับปีการศึกษา 2523 เป็นเงิน 1,280 บาท จำเลยรับเงินจำนวน 1,280 บาท จากเงินเดือนของโจทก์คืนแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่าอาหารและค่าอุปกรณ์ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 140 ซึ่งแก้ไขโดยระเบียบธนาคารออมสิน ฉบับที่ 162 การที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 1,280 บาท จึงเป็นการจ่ายให้โดยมิชอบ โจทก์ใช้สิทธิเบิกเงินดังกล่าวในฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานการจ่ายเงินให้โจทก์ดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินสวัสดิการการศึกษาของบุตรโจทก์ตามระเบียบการธนาคารออมสินว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรจึงมิใช่เป็นหนี้อื่น หากเป็นหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจึงหักเงินเดือนโจทก์เพื่อชดใช้เงิน 1,280 บาท ซึ่งโจทก์เบิกไปโดยมิชอบได้ ไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเบิกเงินตามระเบียบการธนาคารออมสินตามที่กล่าวมาแล้วจำเลยมีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ได้ตามคำสั่งที่ 33/2520 เรื่องระเบียบวิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรและการยืมเงินทดรอง ข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่า “ในกรณีที่มีการใช้สิทธิไม่ถูกต้อง ให้กองการพนักงานทักท้วงและเรียกเงินคืนพร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายการบัญชีและกองงบประมาณทราบโดยด่วน” สิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยที่จ่ายให้โจทก์ไปโดยไม่ถูกต้องดังกล่าวคือนั้นไม่ใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 การขอเบิกเงินตามระเบียบการธนาคารออมสินเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ไปโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ไม่คืนเงินให้จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะหักเงินเดือนโจทก์เพื่อชดใช้เงินซึ่งโจทก์เบิกไปโดยมิชอบได้ ไม่เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ปัญหาว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยให้จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนของโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นเรื่องหักหนี้ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง